แทนที่จะเป็นปัญหาปากท้อง น่าแปลกใจทีเดียว ที่ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนในชื่อพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ผู้บริหารเมือง ปฏิรูปโครงสร้างการทำงาน เรื่องนี้ถูกนำเสนอต่อนักการเมืองตั้งแต่ตอนหาเสียง ไปจนถึงได้รับตำแหน่ง และดูเหมือนจะได้รับการตอบรับอย่างดี จากผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 14 นั่นคือนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เรื่องนี้มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาจุดอ่อนจุดแข็ง และโครงสร้างการทำงานที่ลงตัว สอดคล้องกับบริบทของเมืองที่เติบโตขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ภาคพลเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาจากโครงสร้างการทำงานที่ กทม.ใช้อยู่ในปัจจุบัน ใช้มานานเกือบ 30 ปีแล้ว หลายข้อจำกัด ได้ทำให้การทำหน้าที่บริหารเมืองบางเรื่องขาดเอกภาพ บางเรื่องรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป ขณะที่บางเรื่องอำนาจไม่ชัดเจน จนหลายปัญหาไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
เมื่อครั้งที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 นายอภิรักษ์ประกาศชัดเจนว่าภายในปีแรกของการทำงาน คนกรุงเทพฯจะได้เห็นหน้าตาโครงสร้างการทำงานของ กทม.ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่สุดท้าย ก็ต้องออกจากตำแหน่ง หลังทำงานได้ไม่ถึงปี ด้วยเหตุผลทางคดีความ
เรื่องนี้สะดุดลงทันที และถูกโอนย้ายความคาดหวังไปยังผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป และดูเหมือนจะทำให้เครือข่ายประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯที่ผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ใจชื้นขึ้นมาเมื่อผู้ว่า กทม.คนที่ 15 มาจากพรรคประชาธิปัตย์ สังกัดเดียวกันกับนายอภิรักษ์ ด้วยเชื่อว่าหลายงานจะถูกสานต่ออย่างรวดเร็ว และง่ายขึ้น
แต่ 4 ปีที่ผ่านมา กับการปฏิรูปโครงสร้างการทำงานของ กทม.ภายใต้ความคาดหวังของภาคประชาชน เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพฯมองว่า ไม่คืบหน้า ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่เคยศึกษาไว้ตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯคนก่อน ยังคงถูกพับไว้
และนี่ก็จะเป็นอีกประเด็นที่ตลอดการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนที่16 ภาคประชาสังคมจะผลักดันให้เป็นนโยบายหลักจากประชาชน นั่นเป็นเพราะพวกเขามองว่านี่คืออำนาจ และหน้าที่ลำดับแรกของพ่อเมืองคนใหม่ที่ควรทำ หากต้องการให้ทุกนโยบายที่หาเสียงไว้ เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น