โอกาสของแรงงานไทยใน
โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ปัจจุบันมีกระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกระพือโหมจนบางคนเข้าใจว่าเมื่อถึงปี 2558 คนทั้งอาเซียนจะรื่นไหลอยากไปประเทศไหนทำงานอะไรก็ไปได้สะดวกตามใจ แต่ความจริงไม่ง่ายขนาดนั้น และมีคำถามว่าโอกาสของแรงงานไทยในประชาคมอาเซียนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน แรงงานกลุ่มไหนที่ได้ประโยชน์ และทำอย่างไรจึงจะฉวยประโยชน์นั้นได้
ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาหนึ่งของตลาดแรงงานไทยคือความไม่สมดุลของโครงสร้างแรงงาน ความไม่สมดุลของตลาดแรงงานทั้งระดับล่างและระดับบน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ ขาดแคลนแรงงานระดับล่าง(ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา)แต่มีแรงงานส่วนเกินระดับอุดมศึกษาอยู่มาก และมีปัญหาคุณภาพแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งตลาดแรงงานอาเซียนน่าจะช่วยดูดซับแรงงานส่วนเกินของไทยกลุ่มนี้ได้ เนื่องจากภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเน้นการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ(ซึ่งหมายถึงแรงงานกลุ่มบน)หรือแรงงานวิชาชีพ โดยไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานระดับล่าง
ตัวอย่างปัญหาแรงงานระดับบนของไทย เช่น ในปี 2551 มีแรงงานระดับอนุปริญญาขึ้นไปประมาณ 5.1 ล้านคน มีการออกจากแรงงานเพียงประมาณปีละ 8.2 หมื่นคน แต่เราผลิตแรงงานใหม่ระดับนี้ออกมา 3.1 แสนคน ทำให้มีแรงงานส่วนเกินในระดับนี้มากกว่า 2.3 แสนคนต่อปี และเฉพาะแรงงานระดับปริญญาตรี ในปี 2551 มีแรงงานระดับปริญญาว่างงานประมาณ 1.4 แสนคน ปี 2552 จำนวน 1.6 แสนคน
และในปี 2553 จำนวน 1.3 แสนคน และยังคงว่างงานสะสมต่อเนื่องมากกว่าปีละแสนคน ดังนั้นเมื่อโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานทำได้ยากเนื่องจากความต้องการมีจำกัด ตลาดแรงงานอาเซียนจึงเป็นโอกาสของแรงงานระดับสูงของไทยที่จะเข้าไปแข่งขันในการทำงานได้
ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของ AEC Blueprint สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือโดยเสรีคือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าการลงทุนเสรี 4 ประการ ได้แก่ การค้าเสรี การบริการเสรี การลงทุนเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรียังไม่ใช่ประเด็นหลักของอาเซียนและการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีในกรอบของเออีซี (AEC) ไม่ใช่ใครนึกอยากจะหิ้วกระเป๋าข้ามชาติไปหางานในอาเซียนเมื่อไรก็ได้
แต่มีกฎ กติกา ที่ต้องปฏิบัติซึ่งทำให้มองไม่ชัดว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือภายใต้กรอบอาเซียนมีความได้เปรียบการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศที่เป็นอยู่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อประเทศไทยและอาเซียนมีความตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ อีกเกือบทั่วโลก
ดร.สราวุธ อธิบายว่า บริบทการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีในกรอบของ AEC มี 2 ประเภท 1) การค้าบริการ (กรอบความตกลงการค้าบริการอาเซียน - ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) รวมทั้งการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของการค้า/การลงทุน และ 2) การเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมกันด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพหลัก (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งสองประเภทนี้มีแตกต่างกัน กล่าวคือ
การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือตามการค้าบริการหรือ AFAS คือ การลด /ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการในอาเซียน ประกอบด้วย การค้าบริการ 4 ประเภท คือ 1) การขายบริการข้ามพรมแดน 2) บุคคลผู้ถือสัญชาติตนเดินทางไปใช้บริการในต่างประเทศ 3) ผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาจัดตั้งธุรกิจให้บริการ และ 4) บุคลากรต่างชาติเดินทางไปให้บริการในต่างประเทศ ข้อจำกัดสำคัญของการค้าบริการคือ ไม่ใช้กับบุคคลต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อหางานทำ การขอสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ หรือการจ้างงาน ที่เป็นการถาวร
ดังนั้น ส่วนนี้เมื่อเข้าสู่ AEC แล้วนักธุรกิจยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศปลายทางทั้งกฎหมายเข้าเมืองและกฎหมายอื่นๆ และใช้ได้เฉพาะสาขาบริการเท่าที่ได้ตกลงกันเท่านั้น นอกจากนี้แท้จริงแล้ว การเคลื่อนย้ายแรงงานตาม AFAS ก็เหมือนกับความตกลงในด้านนี้ใน GATS และ WTO ที่มีสมาชิกทั่วโลกเพียงแต่ว่า AFAS มีสาขาบริการที่ทำความตกลงแล้วไม่ต่ำกว่า 65 สาขา ในขณะที่ GATS และ WTO ยังไม่มีความคืบหน้า
ส่วนกรณีของ MRAs นั้นเป็นการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ โดยต้องเป็นการเคลื่อนย้ายเฉพาะแรงงานฝีมือและต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน MRAs ของอาเซียนซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามใน MRAs ไปแล้ว 7 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ และนักบัญชี และ 1 กลุ่มอาชีพคือการท่องเที่ยว
แต่อุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานกลุ่มนี้ คือ 1)ต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (รับรองคุณสมบัติวิชาชีพ อาจต้องมีการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนด) ในประเทศปลายทาง 2)ต้องได้รับใบอนุญาตทำงานจากประเทศที่เข้าไปทำงาน 3)ต้องปฏิบัติตามกฎ/ระเบียบของประเทศที่เข้าไปทำงาน ซึ่งในกรณีของไทยเราระบุว่าต้องมีประสบการณ์ กล่าวคือ ไม่ใช่ผู้จบการศึกษาใหม่ เช่น พยาบาลต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 3 ปี แพทย์ต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี เป็นต้น
ดร.สราวุธ กล่าวว่า การแสวงหาโอกาสจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามแนวทางของความต้องการแรงงานอยู่ที่ การวางแผนตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อลดความกดดันเรื่องการล้นงานและการว่างงานของแรงงานมีการศึกษา(แรงงานระดับสูง) สามารถทำได้ทั้ง ตามข้อตกลง ASAF และ MRAs โดยควรเน้นการส่งเสริมการส่งออกแรงงานระดับวิชาชีพ 8 สาขาตามเงื่อนไข MRAs สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือ ศึกษาตลาดแรงงานวิชาชีพในประเทศปลายทางเพื่อกำหนดประเทศเป้าหมายและเป้าหมายเชิงปริมาณ
ขณะเดียวกันในเชิงคุณภาพต้องศึกษาเงื่อนไขการจ้างงานแรงงานต่างประเทศของประเทศเป้าหมาย ทั้ง MRAs และคุณภาพทางวิชาชีพที่ต้องการ และแก้ไขจุดอ่อนของแรงงานไทย โดยเฉพาะในเรื่องภาษาอังกฤษ และไอที (IT) เพิ่มจุดแข็งของคนไทยโดยการอบรมโดยตรงและโดยอ้อมให้มีคุณลักษณะ (Attributes) ต่างๆ ที่ภาคธุรกิจต้องการ เช่น มีระเบียบวินัย มีมนุษยสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม มีความทุ่มเทให้กับงาน เป็นต้น สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานตามข้อตกลง ASAF นั้น ก็อยู่ที่ต้องการขยายการค้าการลงทุนไปในประเทศอาเซียน เพื่ออาศัย ASAF เป็นพาหนะนำแรงงานระดับสูงของไทยออกสู่ตลาดอาเซียน
ดร.สราวุธ กล่าวว่า ท้ายที่สุด ภาพรวมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนคงไม่ได้ทำให้ตลาดแรงงานระหว่างประเทศของไทยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะประเทศไทยและอาเซียนยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ อีกเกือบทั่วโลก แต่หากเราใช้โอกาสที่เปิดกว้างไม่ว่าช่องทางใดในการเคลื่อนย้ายแรงงานส่วนเกินระดับสูงที่เป็นปัญหาส่วนเกินในตลาดแรงงานและสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี การผลักดันสู่ตลาดแรงงานอาเซียนจึงไม่เพียงช่วยลดปัญหาในประเทศแต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับแรงงานไทยระดับบนซึ่งแข่งขันได้ในอาเซียน และนำรายได้เข้าประเทศ