แนวทางสู้คดีศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

สังคม
6 มิ.ย. 54
04:45
15
Logo Thai PBS
แนวทางสู้คดีศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะมีคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครอง พื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา และขอให้ศาลตีความคำพิพากษา คำตัดสินเมื่อปี 2505 ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ในอีก 3 สัปดาห์

คดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครอง พื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา และ ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ตีความคำพิพากษา คำตัดสินเมื่อปี 2505 ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยมีคณะกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติ ขึ้นว่าความโต้แย้งเหตุผลของกัมพูชา โดยฝ่ายไทยได้นำแง่มุมของกฎหมาย เสนอประเด็น ว่า การออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวฯ อยู่เหนือขอบเขตอำนาจของศาลโลก และยืนยัน ว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามมติของศาลโลกในปี 2505 อย่างครบถ้วน คือ ปราสาทพระวิหาร เป็นของกัมพูชา การถอนทหารออกจากบริเวณปราสาท และตลอด 40 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาไม่ได้โต้แย้ง
 
ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา เสนอประเด็นข้อโต้แย่งต่อศาลโลก เพื่อกดดันทหารไทยออกจากพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร และจะนำไปอ้างสิทธิ์ต่อคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อผลักดันแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
 
ด้าน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ ใน 3 แนวทางหลักๆ ที่ศาลอาจมีคำตัดสิน คือ
 
แนวทางแรก ศาลยกคำร้องของกัมพูชา แต่จากนั้นกัมพูชา อาจจะแสดงให้ประชาโลกเห็นว่า พื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชามีความเสี่ยงเกิดเหตุปะทะ
 
แนวทางที่ 2 หากศาลมีคำสั่งให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร จะส่งผลให้กองทัพไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรัฐบาลปัจจุบัน อาจเสียคะแนนสนันสนุนทางการเมือง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่า ทำให้ประเทศเสียอธิปไตย
 
แนวทางสุดท้าย ศาลมีคำสั่งให้ถอนกำลังทหารทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ออกนอกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหารที่มีกองกำลังทหารกัมพูชาประจำการ ซึ่งแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจจะหาข้อกฎหมายนำมาสร้างสมดุลและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง