เว็บไซต์บล็อกวัน (Blognone) รายงานว่า นายแฟรง ลา รู (Frank La Rue) ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านเสรีภาพการแสดงออก นำเสนอรายงานว่าด้วยการสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก ต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และนำเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ผ่าน www.un.org โดยรายงานนี้ใช้เวลาเก็บข้อมูลในประเทศต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี (มี.ค. 2553 - มี.ค. 2554)
เนื้อหาสำคัญของรายงานฉบับนี้ระบุว่า อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความเห็น (freedom of expression) ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติให้การรับรอง ซึ่งประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันด้วย
รายงานแจ้งอีกว่า การดำเนินงานด้านอินเตอร์เน็ตในหลายๆ ประเทศได้ปิดกั้นอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีกฎหมายรองรับ หรือใช้กฎหมายที่คลุมเครือ และการแสดงออกทางการเมืองที่สหประชาชาติให้การรับรอง กลับเป็นอาชญากรรมในหลายประเทศ ดังจะเห็นได้จากปี 2010 มีบล็อกเกอร์ถูกคุมขังกว่า 100 รายทั่วโลก
เนื้อหาในรายงานกล่าวถึงการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตในหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษที่มีกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตที่รุนแรงด้วย
รวมทั้งยังกล่าวถึง พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของประเทศไทย ที่ขยายฐานความผิดให้ครอบคลุม "ตัวกลาง" (หมายถึงพวกโฮสติ้งหรือไอเอสพี)
In Thailand, the 2007 Computer Crimes Act imposes liability upon intermediaries that transmit or host third-party content and content authors themselves. This law has been used to prosecute individuals providing online platforms, some of which are summarized in the first addendum.
ข้อสรุปของรายงานฉบับนี้คือเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ยกเว้นข้อยกเว้นบางอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมายนานาชาติ (เช่น ภาพอนาจารเด็ก การหมิ่นประมาท) เท่านั้น