ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา การกำกับคุณภาพ"ทีวีดิจิตอล"

เศรษฐกิจ
3 ก.พ. 56
13:37
162
Logo Thai PBS
จับตา การกำกับคุณภาพ"ทีวีดิจิตอล"

การโฆษณาสินค้าต่าง ๆ ในจอโทรทัศน์ที่มีรวม ๆ ถึง 200 ช่อง ทั้งจาก ฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม และภายในปีนี้ (56) ก็จะมีช่องฟรีทีวีเกิดใหม่อีก 48 ช่องในระบบดิจิตอล นับเป็นสิ่งที่กสทช.ยอมรับว่า หนักใจต่อการกำกับดูแลให้เนื้อหาทั้งการโฆษณาสินค้า และเนื้อหารายการให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ ขณะที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ประเมินว่า อุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ จะเติบโตถึงร้อยละ 10 โดยเฉพาะการเติบโตของช่องเคเบิลทีวี จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือ มากกว่า 40,000 ล้านบาท

โฆษณาหลากหลายรูปแบบผ่านช่องรายการเคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม เป็นเรื่องที่ คณะกรรมการกสทช. ตักเตือน เฝ้าระวัง และลงโทษกับบางช่องรายการ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่แก้ยาก เพราะโฆษณาในช่องโทรทัศน์ เหล่านี้ เกิดขึ้นก่อนกสทช.เข้าไปกำกับดูแล

<"">
 
<"">

แต่การควบคุมโฆษณาที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย หรือ ไม่เหมาะสม ขณะนี้ กสทช.อาศัยความร่วมมือกับองค์การอาหารและยา และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำกฎหมายของทั้ง 2 หน่วยมาบังคับใช้

ปัจจุบัน การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ทั้งฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ที่มีรวมเกือบ 200 ช่อง และในปีนี้ (56) เมื่อทีวีระบบดิจิตอลเกิดอีก 48 ช่องในช่องฟรีทีวี ก็จะมีโฆษณาประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก และหลากหลายรูปแบบ
                           

<"">

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค มั่นใจว่า โฆษณาทางฟรีทีวี หรือ ช่องดิจิตอล จะควบคุมได้ง่ายกว่า ช่องเคเบิ้ล และทีวีดาวเทียม เพราะเป็นช่องที่เกิดใหม่พร้อมกับกติกาของกสทช. และจำนวนนาทีในการโฆษณาจะมีน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่า หากช่องเคเบิ้ล หรือดาวเทียม ไม่แก้ไขเรื่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ก็จะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

อีกปัญหาใหญ่ คือ รายการช่องทีวีมีเนื้อหาการเมือง และแบ่งแยกความนิยมการเมืองเฉพาะกลุ่มอย่างชัดเจน และถูกตั้งข้อสังเกตหลายครั้งที่มีเนื้อหาช่องปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก เกลียดชัง

กรรมการกสทช.เห็นว่า ช่องทีวีการเมืองเหล่านี้ ก็ต้องปรับผังรายการให้เข้าการเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด เช่น เป็นรายการทั่วไป ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ใบอนุญาต หรือ หากจะแข่งประมูล ก็ต้องคำนึงถึงคู่แข่งขันในตลาดด้วย ขณะที่ กสทช. ก็จะเปิดเวที เชิญผู้ประกอบการกลุ่มเหล่านี้หารือ เพื่อไม่ให้ละเมิดเสรีภาพสื่อ ควบคู่กับความรับผิดชอบ
                            

<"">

นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทย มองว่า การผลิตเนื้อหารายการโทรทัศน์ กสทช.อาจต้องกำหนดคุณสมบัติผู้ร่วมประมูล ว่าจำเป็นต้องมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความเป็นมืออาชีพ หรือ มีประสบการณ์ให้ชัดเจนก่อนเริ่มประมูล เพื่อให้ได้รายการมีคุณภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้ประกอบการ ไม่มีประสบการณ์ อาจเจอภาวะเสี่ยงทำให้บริษัทขาดทุน และปิดกิจการหลังการประมูลเสร็จในช่วง 2- 3 ปี

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า กสทช.ต้องสร้างกลไกล และสนับสนุนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อ และมีภาคการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และเอาผิดจริงจังต่อสื่อที่นำเสนอเนื้อหาโฆษณา ที่ผิดกฎหมาย และกสทช.เองก็ต้องปรับตัว

ขณะที่สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ภาพรวมตลาดสื่อโฆษณาปีนี้ (56) จะเติบโตร้อยละ 10 หรือมีเม็ดเงินประมาณ 120,000ล้านบาท โดยเฉพาะจะเกิดการซื้อโฆษณาในช่องเคเบิลทีวี และทีวีดิจิตอล มากถึง 40,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง