กสทช.ถก
กสทช. เชิญผู้บริหารทรูวิชั่นส์ หารือ เหตุผู้บริโภคร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ยกเลิกรายการไม่แจ้งผู้ชมทราบล่วงหน้า
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ของ กสทช.ได้หารือกับผู้บริหารบริษัททรูวิชั่นส์ หลังจากมีผู้ร้องเรียนกสทช.ตลอดปี 2555 จำนวน 269 ราย เกี่ยวกับการให้บริการของทรูวิชันส์ ซึ่งเป็นกิจการโทรทัศน์เคเบิ้ลระบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ และเป็นรายเดียวที่มีสัญญาครบถ้วน ได้แก่ ไม่สามารถรับชมรายการได้ / ไม่สามารถยกเลิกบริการก่อนกำหนดโดยไม่เสียค่าปรับ/ ถูกยึดเงินประกัน/ หรือได้รับเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ กรณียกเลิกบริการแล้วแต่ไม่ได้รับเงินคืน/ คืนเงินประกันล่าช้า กรณีถูกคิดค่าบริการเพิ่มโดยไม่ทราบล่วงหน้า/ถูกเก็บค่าบริการเกินจริง กรณีผู้ให้บริการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า/ โฆษณาหลอกลวง กรณีถูกคิดค่าบริการทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการ และกรณีข่มขู่ทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม
รวมทั้ง ยังพบเรื่องร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงที่ออกอากาศผ่านทางเคเบิ้ลทรู ซึ่งรายการดังกล่าวไม่ได้เป็นช่องรายการของทรูวิชั่นส์โดยตรง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯที่ทำหน้าที่พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นช่องว่างของสัญญา จึงทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. โดยที่ผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่ยังประสงค์อยากเป็นสมาชิกของทรู ดังนั้นจึงหวังว่าการมาหารือในครั้งนี้จะส่งผลให้ทางทรูวิชั่นส์สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการบริการรวมถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสัญญา ซึ่งในขณะนี้กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสัญญาและบริการดังกล่าว
ขณะที่ผู้บริหารทรูวิชั่นส์ ระบุว่า พร้อมรับข้อเสนอเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งบางเรื่องยอมรับว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา อย่างเช่นเรื่องคุณภาพสัญญาณ กรณีที่เกิดจากเหตุหรือภัยพิบัติ ซึ่งผู้บริโภคเองสามารถร้องเรียนได้เองโดยตรงที่แผนกช่วยเหลือลูกค้าสมาชิก ทรูวิชั่นส์แคร์ และเร็วๆนี้ทรูวิชันส์เตรียมชี้แจงให้สมาชิกทราบเรื่องการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกด้วย
สำหรับ กสทช. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำประกาศ เรื่อง มาตรฐานสัญญาการให้บริการในกิจการโทรทัศน์ และแบบสัญญาที่บังคับใช้กับผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ซึ่งจะมีการจัดทำ Focus Group ระดมความคิดเห็นกับผู้ประกอบการโทรทัศน์เรื่องแนวทางและกลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค และ นอกจากนี้งานอีกส่วนหนึ่งคือเตรียมจัดทำ Code of practice หรือแนวปฏิบัติทางจรรยาบรรณเพื่อการกำกับกันเองของวิชาชีพ ของกิจการโทรทัศน์ผู้ซึ่งรับใบอนุญาตรายใหม่ด้วย ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือกับทรูวิชั่นส์ในฐานะผู้ประกอบการรายเดิมที่มีฐานลูกค้ากว้างและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน