กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ กฎหมาย พีพีพี เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ระบุว่า มีโครงการต่างๆ ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถประเมินตัวเลขของบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนกับรัฐ หากเอกชนลงทุนมากจะทำให้รัฐบาลกู้เงินน้อยลง
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ระบุว่า กฎหมายพีพีพี มีผลบังคับใช้ในเดือนมี.ค. และจะนำไปใช้ในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้พระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเอกชนลงทุนได้ ร้อยละ 20 หรือ ประมาณ 300,000 - 400,000ล้านบาท ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการทางหลวงพิเศษ
ด้านนายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขยายกรอบวงเงินในพระราชบัญญัติการร่วมทุนฯ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งลดขั้นตอนและระยะเวลาอนุมัติโครงการ จะช่วยให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐบาลมากขึ้น และกระตุ้นการแข่งขันในกลุ่มผู้ประกอบการ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล การประมูลงาน, ราคากลาง และบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต