ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห่วงคนไทยกินผัก-ผลไม้น้อยลง เข้าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ถึง 1 ใน 5

สังคม
15 ก.พ. 56
10:54
859
Logo Thai PBS
ห่วงคนไทยกินผัก-ผลไม้น้อยลง เข้าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ถึง 1 ใน 5

ซ้ำร้ายผู้บริโภคยังต้องเจอสารพิษตกค้างอีกกว่าครึ่ง เสนอ 4 ข้อ สู่เส้นทาง “ต้นแบบอาหารปลอดภัย”

 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และรองประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. เป็นประธานเปิดนิทรรศการอาหาร “เส้นทางกิน[พอ]ดี สู่ชีวีมีสุข” และงาน Green Consumer Society Fair 

 
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า คนไทยให้ความสำคัญกับอาหารที่บริโภคลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีคนไทยมากกว่า 400,000 คน/ปี เสียชีวิตด้วยโรคที่มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภค อาทิ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง ซึ่ง สธ. ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม วางแนวทางการขับเคลื่อนคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารตั้งแต่ระดับผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค โดยในส่วน สธ.ได้กำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการผลิตอาหารออกสู่ตลาด อีกทั้งได้กำชับไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จะต้องเป็นหน่วยงานต้นแบบอาหารปลอดภัย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่สังคมอีกทางหนึ่งด้วย
 
“ปัจจุบันคนเมืองกว่า 80% นิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน ดังนั้นความสะอาด ปลอดภัยของร้านอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ รวมทั้งในส่วนบุคคลเองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง เลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัยตามหลัก 4 เลือกได้ คือ 1.เลือกอาหารเหมาะสมกับปริมาณที่ควรบริโภคในแต่ละวัน 2.เลือกอาหารจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ 3.เลือกอาหารสะอาดและปลอดภัย และ 4.เลือกอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ” นพ.ประดิษฐ กล่าว
 
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะด้านอาหาร เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สสส. ที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยจากข้อมูลจากรายงานสุขภาพประชาชนไทย ในปี 2551-2552 พบว่า สถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้คนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง โดยรับประทานผักและผลไม้เพียงพอไม่ถึงครึ่ง หรือเพียง 17.7% ลดลงจาก 21.9% ในปี 2546-2547 และภาคกลางบริโภคผักผลไม้น้อยที่สุด14.45% 
 
อีกทั้งในจำนวนผู้บริโภคก็ยังไม่เข้าถึงผักผลไม้ที่ปลอดภัย เพราะจากการสำรวจพบ ผักผลไม้ตามท้องตลาดมีสารเคมีตกค้างถึง 40% และเป็นที่น่าตกใจว่า ไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากเกิน เป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็น 87 ล้านกิโลกรัม/ปี เป็นเงินถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นอาหารจึงเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่หากเราไม่รู้เท่าทัน ก็จะกลายเป็นการทำร้ายตนเองโดยไม่รู้ตัว
 
ด้านนางวัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด ประธานเครือข่ายตลาดสีเขียว กล่าวว่า ข้อเสนอในการดำเนินนโยบายอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลสังกัด สธ.ทุกแห่ง จัดตลาดนัดสีเขียว เพื่อเอื้อให้เกิดการเชื่อมระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ผลิต เกษตรกร และผู้ประกอบการสีเขียว 
2.ปรับเงื่อนไขการนำอาหารปลอดภัยและผักไร้สารพิษสู่ครัวโรงพยาบาล อาทิ เกณฑ์มาตรฐานอาหาร เกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง 
3. สร้างระบบสมาชิกระหว่างเกษตรกรและโรงพยาบาล(Hospital Supported Agriculture) พัฒนาสายสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วน 
4. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การรับและกระจายผลผลิตสีเขียว (Learning and Distribution Center-LDC) เพื่อเอื้อต่อการรวบรวมชนิดและปริมาณพืชผัก การตรวจสอบคุณภาพ และการขนส่ง
 
ทั้งนี้ นิทรรศการอาหาร “เส้นทางกิน[พอ]ดี สู่ชีวีมีสุข” และงาน Green Consumer Society Fair เป็นการรวมรวบและสังเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ ของ สสส. และภาคีเครือข่าย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ อาทิ “โซนอันตราย รายทาง” คู่มือในการปฏิเสธอาหารให้โทษ “เมนูท้าลอง” นำเสนออาหารจานเด็ดของคนไทยยุคปัจจุบัน ที่ต้อง เลือกก่อนบริโภคว่า จานไหนทานได้ จานไหนน่ากลัว “กิจกรรมพิสูจน์สารพิษตกค้าง (Food Lab)” วิธีง่ายๆ ที่จะตรวจสอบสารตกค้างในผักสด ผลไม้ได้ด้วยตนเอง โดยจัดแสดงที่บริเวณชั้น 1 และชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซ.งามดูพลี เปิดให้ชมวันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น. และวันเสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 27 เมษาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง