เจ้าของฉายา
นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ 22 พ.ย.2554 จนถึงเวลา 17.09 น.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ก็จากไปอย่างสงบ เมื่อแพทย์แถลงว่า ถึงอสัญกรรมด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
พล.ต.สนั่น ป่วยอยู่ในความดูแลของแพทย์ศิริราช เข้ารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยปัญหาทางเดินหายใจ (ถุงลมโป่งพอง) โดยพักอยู่ที่หออภิบาลการหายใจ “บัญญัติ ปริชญานนท์” Respiratory Care Unit (RCU) ชั้น 2 ตึกอัษฎางค์ รพ.ศิริราช ซึ่งขณะนี้อยู่ในความดูแลของคณะแพทย์ แต่ยังไม่สามารถให้เข้าเยี่ยมได้ เนื่องจากต้องการให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2478 เป็นชาวจังหวัดพิจิตร เป็นผู้ก่อตั้งพรรคมหาชน และเคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลมาแล้วมากมายอาทิ รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และถูกเรียกขานจากสื่อมวลชนและแวดวงการเมืองว่า"เสธ.หนั่น"
ประวัติทางครอบครัว พล.ต.สนั่น สมรสกับ นางฉวีวรรณ ขจรประศาสน์ มีบุตร-ธิดารวม 4 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 3 คน โดยบุตรชายเข้าสู่วงการเมือง คือ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ หรือ "ยอด" อดีต ส.ส.พิจิตร เขต 3 พรรคมหาชน ส่วนบุตรสาวอีก 3 คนคือ น.ส.บงกชรัตน์ ขจรประศาสน์, น.ส.ปัทมารัตน์ ขจรประศาสน์ และ น.ส.วัฒนีพร ขจรประศาสน์
ประวัติทางการศึกษา พล.ต.สนั่น สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง,ปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตรัฐศาสตร์ สาขาบริหาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาเอกศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันราชภัฎจันทรเกษม
พล.ต.สนั่น เคยรับราชการเป็นทหารบก เหล่าทหารม้า มียศทางทหารสุดท้ายเป็น พันโท ก่อนจะถูกให้ออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. 2520 เนื่องจากร่วมก่อการกบฏ 26 มีนาคม 2520 ที่มีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลชุดที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริเป็นหัวหน้า โดย พ.ท.สนั่น เป็นเลขาธิการคณะ พ.ท.สนั่น ถูกจำคุกที่ เรือนจำลาดยาว จากข้อหากบฏ ทำให้ได้พบและสนิทสนมกับ พ.อ.มนูญ รูปขจร (ปัจจุบันคือ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร) แต่หลังจากนั้นเมื่อ พ.ท.สนั่น ได้เข้าทำงานการเมือง และดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงมหาดไทย พ.ท.สนั่นได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็น "พลตรี"
ปลายปี พ.ศ. 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ถูกแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดการลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ในเวลานั้นพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคชาติไทย, พรรคประชากรไทยและพรรคกิจสังคม ตกลงที่จะสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทางพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และมีจำนวนส.ส.น้อยกว่าพรรคความหวังใหม่เพียง 2 เสียง ก็มีความพยายามที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นกัน
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 นายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้จัดแถลงข่าวยืนยันการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ชั้นล่างของทำเนียบรัฐบาล แต่ในเวลาเดียวกัน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็เปิดแถลงข่าว เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคกิจสังคมของ นายมนตรี พงษ์พานิช ที่ย้ายฟากมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างกะทันหัน และมีตัวแปรสำคัญคือ ส.ส. พรรคประชากรไทย จำนวน 12 คน นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม และ นายฉลอง เรี่ยวแรง ที่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้สถานการณ์พลิกกลับอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเสียงทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า และทำให้นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในที่สุด
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สื่อมวลชนได้เรียก ส.ส.ทั้ง 12 คนนั้น ว่า "กลุ่มงูเห่า" เพราะนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้เปรียบเทียบตนเองไว้ว่า เหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง "ชาวนากับงูเห่า" เพราะแกนนำของ ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัดพรรคสามัคคีธรรม แต่ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไม่มีพรรคใดรับเข้าสังกัด จนในที่สุดเข้ามาสังกัดพรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค
การถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ โดยนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น พรรคความหวังใหม่ ได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พล.ต.สนั่น แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวน 45 ล้านบาท จากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมจริง และนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนคดีเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ว่า พล.ต.สนั่น มีความผิด ฐานจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 295 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ พล.ต.สนั่น ต้องลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นมายาวนานถึง 13 ปี
หลังการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง พล.ต.สนั่น ได้ก่อตั้ง พรรคมหาชน ขึ้นมาโดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 และต่อมา พล.ต.สนั่น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา แต่หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พล.ต.สนั่น พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชาย และสมาชิกพรรคมหาชน เดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ถือเป็นการสิ้นสุดการดำเนินงานของพรรคมหาชนไปโดยบริยาย
ต่อมาพล.ต.สนั่น ได้เข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง โดยได้ร่วมรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในประเทศในช่วงปี 2552-2553 ทำให้พล.ต.สนั่น ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งชาติ เพื่อสร้างความปรองดองกับทุกฝ่าย เนื่องจากพล.ต.สนั่น เป็นคนที่มีความสนิทใกล้ชิดเคยทำงานร่วมกับกลุ่มการเมืองทั้งมีสีและไม่มีสี จนได้รับฉายาว่า "มือประสานสิบทิศ"
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2553 ผู้สื่อข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ได้มีการตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยในปีนี้ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลได้ประชุม และมีมติให้ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2553 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ได้รับฉายาว่า "ลิ้นชาละวัน" เพราะผลงานในตำแหน่งรองนายกฯ ไม่เป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม แต่บทบาทที่ชัดเจนคือการเดินสายเจรจาสร้างความปรองดองกับทุกพรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกสี แต่ก็ไม่เป็นผล เปรียบเหมือนการใช้ลิ้นจระเข้ที่ไม่มีต่อมรับรส กินอะไรก็ไม่รู้รสชาติ
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ยังได้รับฉายาจากสถานีประชาชน (พีเพิลชาแนล) ด้วยอีกว่าเป็น “สิงห์ไวน์ส่งไม้ต่อ” เนื่องจากชั่วหลังๆ เสธ.หนั่นมีแนวคิดที่จะสละเก้าอี้ ซึ่งหากลงจากตำแหน่งจริง จึงต้องการให้ลูกชายได้สัมผัสเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยในคราวนี้
และในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.สนั่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยขอยุติการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ยังคงพร้อมที่จะช่วยงานในส่วนของพรรค และงานการเมืองของประเทศต่อไป