"โรคอ้วนในเด็ก" กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลกในระยะยาว องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในปี 2567 มีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 39 ล้านคนทั่วโลก ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึงร้อยละ 24
ในประเทศไทย ปัญหาโรคอ้วนในเด็กก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2567 พบว่าเด็กไทยในวัยเรียน (6-14 ปี) มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนถึงร้อยละ 17.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูง ขาดการออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น
ความเชื่อผิด ๆ ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก
หนึ่งในความเชื่อที่ฝังรากลึกในสังคมไทยคือ "เด็กอ้วนคือเด็กสมบูรณ์" หลายบ้านมองว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก แสดงถึงการมีสุขภาพดีและฐานะครอบครัวที่มั่งคั่ง ความเชื่อนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการเลี้ยงดูแบบผิด ๆ แต่ยังปิดกั้นการแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กในระดับโครงสร้างด้วย
พ่อแม่บางคนอาจมีความเข้าใจผิดว่าการเลี้ยงลูกให้กินอาหารมาก ๆ หรือกินอาหารที่มีพลังงานสูงเป็นวิธีที่แสดงถึงความรักและการดูแล ความเชื่อนี้ทำให้เด็กได้รับพลังงานเกินความจำเป็น ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวัยที่ยังต้องการพัฒนาการด้านร่างกายอย่างสมดุล
นอกจากนี้ การที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่รอบตัวเด็กมักชมเชยเด็กอ้วนว่าน่ารัก อุ้มง่าย หรือดูแข็งแรง อาจทำให้เด็กเองรู้สึกว่าโรคอ้วนไม่ใช่ปัญหา และขาดแรงจูงใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเองในระยะยาว สิ่งนี้สามารถกลายเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การโฆษณาที่เชื่อมโยงการบริโภคอาหารขยะกับความสุข ความสำเร็จ หรือความรักจากครอบครัว ทำให้เด็กและผู้ปกครองมองข้ามผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว
ผลกระทบโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กส่งผลกระทบเชิงลึกทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในแง่ร่างกาย เด็กที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน โรคหัวใจและหลอดเลือดจากการสะสมไขมันในหลอดเลือด และความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการที่หัวใจทำงานหนักเกินไปเพื่อลำเลียงเลือดในร่างกาย
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้อเสื่อมจากการที่ข้อรับน้ำหนักเกิน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลงและส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองในวัยเด็ก
ในแง่จิตใจ เด็กที่มีภาวะอ้วนมักเผชิญกับการถูกล้อเลียนหรือการรังแก (bullying) ในโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นใจในตนเองและถูกด้อยค่า เด็กบางคนอาจพัฒนาภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล รวมถึงปัญหาการเข้าสังคมที่ทำให้พัฒนาการทางอารมณ์ถูกจำกัด
วิธีการดูแลและป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
สร้างนิสัยการกินที่ดี
• ให้เด็กกินอาหารที่หลากหลาย เน้นผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง ช่วยในระบบย่อยอาหาร
• หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ หรือขนมหวาน
• สร้างนิสัยการกินมื้ออาหารที่เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการกินจุบจิบ หรือกินอาหารหน้าจอโทรทัศน์
ส่งเสริมการออกกำลังกาย
• กระตุ้นให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 60 นาที/วัน
• สร้างกิจกรรมครอบครัว เช่น การปั่นจักรยานร่วมกัน การเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือการทำงานบ้านที่ใช้แรง
ควบคุมเวลาหน้าจอ
• จำกัดเวลาการใช้สมาร์ตโฟน โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน และสนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่ไม่ใช่หน้าจอ เช่น การอ่านหนังสือหรือเล่นเกมสร้างสรรค์
• ใช้เทคโนโลยีในเชิงสร้างสรรค์ เช่น การเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับโภชนาการและการออกกำลังกาย
สร้างการตระหนักรู้ในครอบครัว
• ให้ผู้ปกครองเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโรคอ้วนในระยะยาวและเปลี่ยนความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าเด็กอ้วนคือเด็กสมบูรณ์
• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวในกิจกรรมที่เสริมสุขภาพ เช่น การทำอาหารเพื่อสุขภาพร่วมกัน
รณรงค์ในชุมชนและโรงเรียน
• โรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น การให้ความรู้เรื่องโภชนาการ การจัดชั่วโมงออกกำลังกาย และการลดอาหารขยะในโรงเรียน
• ชุมชนสามารถจัดโครงการสุขภาพ เช่น การวิ่งมาราธอนสำหรับเด็กและครอบครัว การตั้งศูนย์ออกกำลังกายชุมชน หรือการอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการ
แหล่งที่มา : องค์การอนามัยโลก (WHO), กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, UNICEF Thailand
อ่านข่าวอื่น :