นักวิทยาศาสตร์รัสเซียพบชิ้นส่วนอุกกาบาตในทะเลสาบน้ำแข็ง
สำนักข่าวของรัสเซีย รายงานผลการตรวจสอบองค์ประกอบของชิ้นส่วนที่พบบริเวณทะเลสาบน้ำแข็ง "เชอบาร์กูล" ในแคว้น "เชลยาบินส์" พบว่า เป็นอุกกาบาตซึ่งมีธาตุเหล็กผสมอยู่ร้อยละ 10 ส่วนอุกกาบาตที่คาดว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งตกลงไปในทะเลสาบน้ำแข็ง ทำให้แผ่นน้ำแข็งแตกเป็นวงกว้าง 8 เมตร ล่าสุด นักประดาน้ำ 6 คนที่ถูกส่งไปสำรวจใต้ทะเลสาบได้ยุติการค้นหาอุกกาบาตแล้ว และคาดว่า จะเริ่มการอีกครั้งช่วงฤดูใบไม้ผลิเพื่อรอให้น้ำแข็งละลาย โดยอุณหภูมิในทะเลสาบตอนนี้ ติดลบ 17 องศาเซลเซียส
ส่วนอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นกระแทก หรือช็อคเวฟ อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่ประมาณ 9,000 นาย และอาสาสมัครอีกจำนวนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนแล้ว
ทั้งนี้อาคารที่ได้รับความเสียหายมีประมาณ 4,000 หลัง ประกอบด้วยโรงพยาบาล, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, โรงงาน และบ้านเรือน มีประชาชนได้รับบาดเจ็บประมาณ 1,200 คน สาเหตุของการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากการถูกกระจกบาด
ผู้ว่าการแคว้นเชลยาบินส์ กล่าวว่า ทางการจะซ่อมหน้าต่างทุกบานให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ แต่เนื่องจากกระจกมีไม่เพียงพอ จึงต้องใช้วัสดุอื่นแทนเช่น ผ้าใบพลาสติค หรือแผ่นโพลีคาร์บอเนตแทน ซึ่งช่วยกันลม และความหนาวเย็นได้
โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ที่ต้องเร่งซ่อมหน้าต่าง เพื่อไม่ให้คนไข้เผชิญกับความหนาวเย็น ทั้งนี้ผู้บาดเจ็บที่มีสาเหตุจากคลื่นกระแทกหรือช็อคเวฟ พักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 40 คน