ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และยุทธศาสตร์การพัฒนา เพิ่มความพร้อมสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

23 ก.พ. 56
10:03
4,147
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และยุทธศาสตร์การพัฒนา เพิ่มความพร้อมสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

กรุงเทพมหานครมีบทบาทสูงในฐานะศูนย์กลางธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากการที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 29 ของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 •  การกระจุกตัวของเศรษฐกิจอย่างหนาแน่นในกรุงเทพฯ นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่จำเป็นต้องกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างของประเทศให้มากยิ่งขึ้น 

 
• การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกรุงเทพฯ นั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การพัฒนาคน ตลอดจนคุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่เป้าหมายการเป็นมหานครศูนย์กลางของอาเซียน
 
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียนด้วย โดยกรุงเทพฯ เป็นที่รวมของประชากรตามทะเบียนราษฎร์ถึง 5,676,765 คน (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2556) 
 
ขณะที่จำนวนประชากรที่รวมประชากรแฝงอยู่ที่ 8,839,022 คน หรือประมาณร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ หากนับรวมประชากรที่เดินทางจากปริมณฑลโดยรอบเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตลอดจนชาวต่างชาติที่คาดว่าอาจมีจำนวนราว 500,000 คน (ทั้งที่พำนักในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในแต่ละวัน) ด้วยแล้ว
 
อาจกล่าวได้ว่า ในแต่ละวันกรุงเทพฯ ต้องรองรับผู้คนที่เข้ามารวมตัวกันทำกิจกรรมเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ มากถึงกว่า 10 ล้านคน 
 
กรุงเทพมหานคร … ศูนย์รวมกิจกรรมเศรษฐกิจกว่า 3.5 ล้านล้านบาท
 
ศูนย์กลางความคับคั่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มารวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้ สะท้อนภาพได้ชัดเจนจากเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของกรุงเทพฯ อาจมีมูลค่าประมาณ 3,550,000 ล้านบาทในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 29 ของจีดีพีทั้งประเทศ 
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ นับว่าลดลงมากในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยสูงร้อยละ 35 ในปี 2545 โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการกระจายกิจกรรมบางประเภทออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม 
ตลาดผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการหันออกไปขยายโอกาสทางการตลาดในต่างจังหวัดที่มีศักยภาพสูงขึ้น ตามกำลังรายได้และการขยายความเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีความต้องการยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตให้ทันสมัยและสะดวกสบายในรูปแบบสังคมเมืองมากขึ้น 
 
เหตุนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจกรุงเทพฯ จึงมักมีระดับต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของกรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (2546-2555) อยู่ในระดับร้อยละ 3.7 เทียบกับค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวของจีดีพีอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2  
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง