ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2556 ไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 3

เศรษฐกิจ
2 มี.ค. 56
07:08
104
Logo Thai PBS
แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2556 ไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 3

ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุดในเดือนก.พ. 2556 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.23 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำลงจากร้อยละ 3.39 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556

 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.57 (YoY) ในเดือนก.พ. 2556 จากร้อยละ 1.59 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 (นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ร้อยละ 1.70) ทั้งนี้ ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.21 (MoM) จากเดือนก่อนหน้า ตามทิศทางของราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เป็นสำคัญ 

 
เงินเฟ้อเดือนก.พ. 2556 ชะลอจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากผลของฐาน แต่ระดับราคาสินค้าในภาพรวม ยังขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.21 (MoM) โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลตรุษจีน อาทิ เนื้อสัตว์ (+3.92% MoM) เป็ดไก่ (+0.51% MoM) ปลาและสัตว์น้ำ (+0.71% MoM) ไข่ (+3.62% MoM) 
 
ขณะที่ ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นในระหว่างเดือนอีกร้อยละ 2.7 ก็มีผลทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศขยับขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันร้อยละ 2.81 (MoM) ขณะที่ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษก็เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10.71 (MoM) เช่นกัน 
 
สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การไล่ระดับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่ยังคงเป็นไปอย่างปกติในช่วงต้นปี 2556 (ไม่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดฉับพลัน แม้ต้นทุนการผลิตจะเข้าสู่จังหวะขยับขึ้นพร้อมๆ กันหลายตัวก็ตาม) อาจเป็นผลมาจากหลายตัวแปร (อาทิ ค่าเงินบาท และสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก) ที่ช่วยลดทอนแรงกดดันด้านราคาลง 
 
กระนั้น สัญญาณการปรับสูงขึ้นของค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ น่าจะยังคงสะท้อนผ่านมาที่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของระดับราคาสินค้าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)
 
เนื่องจากการขยับของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ค่อนข้างเป็นไปอย่างจำกัด (เพราะไม่นับรวมการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหารสด ซึ่งน่าจะเป็นตัวหนุนเงินเฟ้อในปีนี้) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงพิจารณาปรับลดกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ ลงมาที่ร้อยละ 2.0-2.5 (ค่ากลางใหม่ที่ร้อยละ 2.2)  จากกรอบเดิมที่ร้อยละ 2.2-2.8 (ค่ากลางเดิมที่ร้อยละ 2.4) ซึ่งสะท้อนทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2555 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 เช่นเดิม โดยคาดว่า ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสขยับสูงขึ้นมาที่กรอบร้อยละ 3.0-3.6 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 (จากร้อยละ 3.0 ในปี 2555) ตามแรงหนุนด้านต้นทุน ราคาพลังงาน และราคาอาหารสด โดยค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 น่าจะยืนเหนือร้อยละ 3.0 (YoY) เล็กน้อย แต่จะมีโอกาสไล่ขึ้นเข้าใกล้ร้อยละ 3.5 (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง