นักวิชาการเห็นต่าง กรณีตั้งวงถก"นิรโทษกรรม"

10 มี.ค. 56
13:16
60
Logo Thai PBS
นักวิชาการเห็นต่าง กรณีตั้งวงถก"นิรโทษกรรม"

ก่อนจะเริ่มกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อเดินหน้าพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 - 2554 ในวันพรุ่งนี้(11 มี.ค.) นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดเวทีหารือ 10 ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องกับเหตุชุมนุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและทางออกต่อการนิรโทษกรรรม แต่ผู้ที่ถูกเชิญทั้งพรรคประชาธิปัตย์ องค์การพิทักษ์สยาม และกลุ่มพันธมิตรฯ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมหารือ รวมถึง คอป. ที่ย้ำจุดยืนว่าเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ทำรายงานสรุปความจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การชุมนุมเท่านั้น

                        

<"">

ระหว่างที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งมีความพยายามผลักดันให้รัฐสภาเดินหน้าพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 - 2554 แต่ก่อนจะเริ่มกระบวนการนิติบัญญัตินั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 มี.ค.)นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดเวทีหารือและรับฟังความเห็นในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม 10 ฝ่าย
                                  
<"">

รศ.ตระกูล มีชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การให้ความสำคัญกับผู้ที่เชิญแต่ละฝ่ายเข้าร่วมหารือ อาจเป็นบุคคลที่ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เข้ามาไกล่เกลี่ยแก้ปัญหา จึงอาจถูกมองถึงเป็นเกมการเมือง ขณะที่ก่อนเกิดกระบวนการนิรโทษกรรม ชี้ว่าควรผ่านการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่ากันด้วยเรื่องกฎหมาย ส่วนประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการแยกแยะความผิดถูก โดยรัฐบาลอาจมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ แต่ด้วยที่ผ่านมาขาดการปฏิบัติ ดังนั้นการเลือกนิรโทษกรรมในทันที่จึงเป็นการเหมารวมยกเว้นความผิดโดยไม่แยกแยะ
                                
<"">

แต่ในมุมมองของ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการ สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้ากลับมองในแง่บวกว่า เวทีหารือในวันพรุ่งนี้ เหมือนเป็นกระบวนการก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การสร้างความปรองดองที่ต้องสะดุดหยุดชะงักลงไป ดังนั้นการแสดงท่าทีตีตนไปก่อนที่จะพูดคุยกันอาจเป็นเรื่องด่วนสรุปเร็วไป เนื่องจากเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวทีการพูดคุย เพื่อออกแบบว่า แนวทางการนิรโทษกรรม ควรออกมาเป็นอย่างไร ในเมื่อกฎหมายนิรโทษกรรมที่ยื่นเสนอและค้างการพิจารณาต่างมีข้อดีและเสียแตกต่างกันไป จึงควรแยกแยะเรื่องราวออกเป็นสัดส่วนว่า จะนิรโทษกรรมให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณารายละเอียด

เดิมทีเวทีการเปิดหารือกำหนดผู้เกี่ยวข้อง เพียง 4 ฝ่าย แต่หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจไม่รอบคอบและรอบด้าน ทำให้ขยายผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือเป็น 10 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ตัวแทนจากกองทัพหรือทหาร ตัวแทนพรรคเพื่อไทย,พรรคประชาธิปัตย์,กลุ่ม นปช.,กลุ่มพันธมิตรฯ,องค์การพิทักษ์สยาม,ครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์การชุมนุม,ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม,และตัวแทนของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.แต่เมื่อตรวจสอบผู้ที่จะเข้าร่วมการหารือในวันพรุ่งนี้

ก็มีท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ องค์การพิทักษ์สยาม และกลุ่มพันธมิตรฯ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมหารือ โดยต่างเห็นว่า การหารืออาจเป็นเพียงเกมการเมือง และอาจลัดขั้นตอนทางกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตถึงการเร่งรัดผลักดัน ที่อาจกระทำเพื่อเอื้อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งด้วย ส่วน คอป.ยังคงย้ำต่อจุดยื่นของการทำหน้าที่ คือ เป็นเพียงผู้มีหน้าที่ทำรายงานสรุปความจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การชุมนุมเท่านั้น ซึ่งได้นำเสนอรายงานต่อรัฐบาลแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง