Fitch ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทย
โดย ดร. อธิภัทร มุทิตาเจริญ และ โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า Fitch Rating เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในส่วนของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศจาก BBB เป็น BBB+ และพันธบัตรระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศจาก F3 เป็น F2 นอกจากนี้ Fitch ยังคงความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินในประเทศไว้ที่ A-
การปรับอันดับของ Fitch ครั้งนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศเท่ากับ Moody's และ S&P ก่อนหน้านี้ Fitch จัดความน่าเชื่อถือพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยอยู่ที่ BBB ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำกว่าของ Moody's ที่ Baa1 และ S&P ที่ BBB+ ดังนั้นการปรับอันดับของ Fitch ครั้งนี้จึงทำให้ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยเท่ากันใน 3 สถาบันจัดอันดับชั้นนำ (รูปที่ 1)
Fitch มองว่าเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันทั้งในและนอกประเทศ โดยเห็นได้จาก GDP เฉลี่ย 4 ปี (2008-2012) ที่โต 2.9% ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐานของประเทศในกลุ่ม BBB และ A ที่ 2.4% และ 2.5% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ และหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มอายุคงเหลือเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลจาก 5.7 ปี เป็น 7.9 ปี ก็เป็นอีกปัจจัยในการปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้แล้วไทยยังมีบรรยากาศการลงทุนที่มากขึ้น จากความมั่นคงทางการเมืองที่มีเสถียรภาพดีขึ้น ในส่วนภาคการเงินนั้น ไทยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ โดยสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิ (Net Foreign Assets Position) มีมูลค่าถึง 45% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐานที่ 4% ของประเทศในกลุ่ม BBB ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญในการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการรองรับผลกระทบจากต่างประเทศ