ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดมุมมองสะท้อนบทบาท "ฮีโร่อาเซียน"แบบใด เชื่อมความเข้าใจระหว่างกัน

สังคม
12 มี.ค. 56
12:58
211
Logo Thai PBS
เปิดมุมมองสะท้อนบทบาท "ฮีโร่อาเซียน"แบบใด เชื่อมความเข้าใจระหว่างกัน

"นักวิชาการอาเซียน" เปิดวงคุย "ฮีโร่อาเซียน" ควรเป็นแบบใด จึงสร้างสันติภาพอยู่ร่วมกัน ชี้ "ฮีโร่" ต้องเห็นแก่ส่วนรวม-พัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นตัวกลางเพิ่มความเข้าใจระหว่าง 10 ประเทศ เพื่อให้เรียนรู้ตัวตนซึ่งกันและกัน

วันนี้ (12 มี.ค.56) ที่ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นิตยสารสารคดี ได้จัดงานเสวนา Sarakadee talk # 1 ในหัวข้อ My ASEAN Hero : ก้าวข้ามความขัดแย้งสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ นายดุลยภาค ปรีชารัชช์ อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองพม่า, นายโซ อ่อง ตัวแทนประชาชนพม่า Forum Democracy in Burma, นายสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ อาจารย์พิเศษประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย และนางมรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์อาเซียนผ่านบุคคลสำคัญของชาติ

นายโซ อ่อง ตัวแทนจากประเทศพม่า กล่าวว่า ในประเทศพม่านั้นไม่ได้มีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพียงแค่นางอองซาน ซูจีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายคน เช่น นายมิน โก ผู้นำนักศึกษาพม่า ในช่วงที่นักศึกษาทำการประท้วงรัฐบาล ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรอิสระ หลังจากติดคุก โดยที่เขามีความเชื่อว่า หากพม่าขาดซึ่งความคิดเห็น ความอิสระทางความคิดแล้ว ประชาชนก็ไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ขณะนี้ นายมิน โกยังได้เขียนวรรณคดี บทกวีสะท้อนสังคมพม่าด้วย ทั้งนี้ นายโซอ่องยังตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบประชาธิปไตยในพม่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ถ้ายังยึดติดกับอองซาน ซูจี

ตัวแทนจากประเทศพม่ายังกล่าวอีกว่า ฮีโร่ในสังคม จะต้องนึกถึงเยาวชนเป็นหลักว่า ต้องการให้เด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นในรูปแบบไหน และเป็นอย่างไร ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ไม่ต้องการฮี่โร่ที่ถูกกำหนดมาด้วยอำนาจของรัฐ นอกจากนี้แล้ว ฮีโร่จะต้องเป็นผู้ที่นึกถึงหลักสิทธิมนุษยชน และต่อสู้เพื่อสิทธิอย่างแท้จริง

สอดคล้องนายดุลยภาค ที่ระบุว่า ในอดีต วีรชน หรือฮีโร่นั้นสามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ เช่น  พระเจ้าอโนรทา นอกจากนี้แล้ว ชนชั้นนำในพม่ายังมีการเลือกใช้วีรชนที่เป็นคุณต่อรัฐบาลในการครองอำนาจ รวมถึงโฆษณาผ่านสื่อ เพื่อเกลี้ยกล่อมประชาชน และสิ่งสำคัญที่ผู้นำพม่าพัฒนามาโดยตลอด คือ การขยายแสงยานุภาพของกองทัพให้ยิ่งใหญ่ โดยยึดแบบกองทัพบุเรงนองที่แกนกลางสร้างชาติ เพื่อเรียกความภาคภูมิใจและความจงรักภักดีต่อชาติ นอกจากนี้แล้ว นายดุลยภาค มองว่า ฮีโร่และทรชนอาจเป็นคนเดียวกันได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล

ขณะที่นางมรกตวงศ์ กล่าวว่า โฮจิมินต์ คือ ผู้เขียนประวัติศาสตร์ว่าใครจะเป็นวีรบุรุษ หรือวีรสตรี โดยวิกฤตสงครามและเศรษฐกิจนั้นจะนำมาซึ่งวีรบุรุษ ขณะเดียวกันโฮจิมินต์สะท้อนว่า ทุกคนในเวียดนามสามารถเป็นฮีโร่ได้ เนื่องจากไม่มีการกีดกันเรื่องเพศ รวมถึงชนชั้น ทั้งนี้ นางมรกตวงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องมีฮีไร่ และการมีฮี่โร่นั้นมีไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งหากเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับภูมิภาคก็สมควรจะมี นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่สามารถดึงทุกคนในแต่ละประเทศมาร่วมกัน และเป็นฮีโร่ไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนนายสิทธา เปิดเผยว่า ในประเทศฟิลิปปินส์มีวีรบุรุษหลายคน เช่น โฮเซ ลีซาว ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแบบเรียนทุกระดับชั้น โดยในช่วงสงครามเย็นก็ตั้งคำถามว่า โฮเซ ลีซาว ไม่ได้จับอาวุธ แต่ใช้ปากกาเขียนหนังสือ เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปและปฏิวัติ ทั้งนี้ นายสิทธา ระบุว่า การเกิดขึ้นของ "ฮีโร่อาเซียน" นั้น ควรมีการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง