ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธ.ก.ส.ตั้งศูนย์ทำโพล ดูความสุขของ "เกษตรกรไทย" ในภาวะแล้ง ระบุค่อนว่ามีความสุขถึง 75.8%

สิ่งแวดล้อม
14 มี.ค. 56
14:03
143
Logo Thai PBS
ธ.ก.ส.ตั้งศูนย์ทำโพล ดูความสุขของ "เกษตรกรไทย" ในภาวะแล้ง ระบุค่อนว่ามีความสุขถึง 75.8%

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. เผยโพล “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” และ “ภาวะภัยแล้งปี 2556” รวมทั้งผลงานวิจัย “แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. กรณีศึกษา ภาวะโลกร้อน” เตรียมเปิดเวทีประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มนักวิจัย 3-4 เมษายนนี้

 นายสมศักดิ์  กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรทุกจังหวัด หัวข้อ“ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความสุขในการประกอบอาชีพการเกษตรอยู่ในระดับค่อนข้างมาก ร้อยละ 75.8 และอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย ร้อยละ 24.2 โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและอ้อย มีความสุขในประกอบอาชีพอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 38.5 และ 31.1 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและปลูกมันสำปะหลังมีความสุขในการประกอบอาชีพระดับค่อนข้างมาก ร้อยละ 48.3 และ 33.3 

 
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีความสุข 2 อันดับแรก ได้แก่  มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำการเกษตรได้ผลดี    ราคาดี เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย หนี้สินลดลง มีเงินออม และ  ความสุขของครอบครัว คือ ครอบครัวอบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้า สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจกันดี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมีความกังวลในเรื่อง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ตลอดจนสภาพอากาศที่แปรปรวนและการขาดแคลนแหล่งน้ำ
 
นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความคิดเห็น หัวข้อ “ภาวะภัยแล้ง ปี 2556” พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรประสบภาวะภัยแล้งร้อยละ 33.4 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง        ร้อยละ 26.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร้อยละ 19.4 และภาคเหนือตอนบน ร้อยละ 15.6  ส่วนอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง 5 อันดับแรก ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน 
 
ทั้งนี้ เกษตรกรมีการปรับตัวเตรียมพร้อมในเรื่องภาวะภัยแล้ง ดังนี้ วางแผนเลื่อนระยะเวลาในการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นหรือช้าลงจากช่วงระยะเวลาเดิม การปรับลดหรือเพิ่มสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นพืชหลักและพืชรอง การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลการเกษตร การปรับเปลี่ยนพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ทำกิน ปรับลดจำนวนครั้งการผลิต และการเตรียมพร้อมวิธีอื่นๆ เช่น ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และปลูกต้นไม้  โดย ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ได้แก่ การผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ และการสนับสนุนสินเชื่อปลูกพืชระยะสั้น รวมทั้ง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามโครงการธนาคารต้นไม้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและลดภาวะโลกร้อนในระยะยาวด้วย
 
นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ผลการวิจัย “แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. กรณีศึกษาภาวะโลกร้อน” พบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรจนมีปริมาณลดลงและอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตและการอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคต โดยเฉพาะความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเกิดโรคระบาด โรคติดต่อในพืชและสัตว์ ทำให้คุณภาพของสินค้าเกษตรลดลง แนวทางการปรับตัวของเกษตรกร คือ ต้องพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  โดยผลิตสินค้าระดับพรีเมี่ยมเพื่อสร้างจุดเด่นของสินค้าด้วยกลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง ใช้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยแผนที่ อาทิ จำแนกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมมากหรือน้อย และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ ส่วนด้านการตลาดควรศึกษาว่า สินค้าเกษตรประเภทใดเป็นที่ต้องการของตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และลดการพึ่งพาจากภาครัฐ ทำให้อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และมีการสืบทอดอาชีพการเกษตรต่อไป 
 
นายสมศักดิ์ เพิ่มเติมว่า วันที่ 3- 4 เมษายนนี้ ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์  กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. จัดประชุมวิชาการครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์วิจัยเกษตรไทย...ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง”  เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยของเครือข่ายนักวิจัย ธ.ก.ส. และสถาบันภายนอก  เผยแพร่ สู่สาธารณชน ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษและบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ เรื่อง “มองอนาคตเกษตรไทย” โดยผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรื่อง “เกษตรอนาคต...เกษตรอัจฉริยะ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.มรกต  ตันติเจริญ เรื่อง “การพัฒนาชุมชน” โดย ดร.มีชัย วีระไวทยะ  และเรื่อง “เปิดมุมมองงานวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน” โดย ศาสตราจารย์   ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ พร้อมนิทรรศการ และการนำเสนอผลงานวิจัยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรไทย 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง