แผนความช่วยเหลือไซปรัส ถ้าทันเวลา...ลดความเสี่ยงต่อระบบยูโรโซนอย่างน้อยก็ในระยะสั้น
ไซปรัสบรรลุข้อตกลงในการเลี่ยงภาวะล่มสลายทางการเงินกับ EU/IMF ทันเวลาตามเส้นตาย โดยแผนความช่วยเหลือจากมาพร้อมกับการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญในภาคธนาคาร ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ปัญหาของไซปรัสที่ได้ข้อสรุปทันเวลา และขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรั้งท้ายสมาชิกอื่นๆ ในยูโรโซน จะทำให้ความเสี่ยงต่อการลุกลามของวิกฤตหนี้อยู่ในระดับต่ำ ณ ขณะนี้ แต่ก็เป็นภาพที่ตอกย้ำว่า ความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจ-การคลัง-การธนาคาร ที่สั่งสมเป็นเวลานานในประเทศสมาชิก ก็อาจปะทุขึ้นยิ่งวิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนลากยาวออกไป
ยูโรโซนอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างภาคธนาคารไซปรัสของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (EU/IMF) แล้ว ซึ่งส่งผลให้ไซปรัสสามารถเริ่มเบิกเงินช่วยเหลืองวดแรก (จากวงเงินรวม 1.0 หมื่นล้านยูโร) จากกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2556
อย่างไรก็ดี ไซปรัสไม่สามารถนำเงินช่วยเหลือจากวงเงินที่ได้รับการจัดสรรจาก EU/IMF ไปเพิ่มทุนให้กับธนาคาร Bank of Cyprus และ ธนาคาร Popular Bank of Cyprus (Laiki) ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างตาม Bank Resolution Framework อนึ่ง แผนการช่วยเหลือไซปรัส เสร็จสิ้นทันเวลาตามกำหนดเส้นตายวันที่ 25 มี.ค. 2556 ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อป้องกันการไหลออกของเงินฝากเมื่อธนาคารกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค. 2556
แผนช่วยเหลือไซปรัสนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคธนาคารครั้งสำคัญของประเทศ โดยตามกรอบการทำงานของ Bank Resolution Framework จะมีการจัดตั้งธนาคารสำหรับบริหารหนี้ดี (Good Bank) และธนาคารสำหรับบริหารหนี้เสีย (Bad Bank) ขึ้น หลังจาก Popular Bank of Cyprus (Laiki) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ปิดกิจการลง
ทั้งนี้ เงินฝากในธนาคาร Laiki ที่มีวงเงินสูงกว่า 100,000 ยูโร ซึ่งไม่ได้รับการค้ำประกันตามกฎหมายของสหภาพยุโรป จะถูกอายัด และปรับลดมูลค่าลงในสัดส่วนหนึ่ง (ซึ่งอาจจะมากกว่าอัตราภาษีเงินฝากที่จะมีการเรียกเก็บตามแผนช่วยเหลือของ EU/IMF ในช่วงก่อนหน้านี้) เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาหนี้สิน ร่วมกับส่วนของผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ของธนาคาร ส่วนเงินฝากในธนาคาร Laiki ที่มียอดต่ำกว่า 100,000 ยูโร จะถูกโอนไปไว้ที่ Bank of Cyprus ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
สำหรับในส่วนของ Bank of Cyprus นั้น ในเบื้องต้นจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องฉุกเฉิน (ELA) 9.0 พันล้านยูโรจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ เงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันใน Bank of Cyprus ก็จะถูกอายัดจนกว่าจะมีการเพิ่มทุนให้กับธนาคาร ซึ่งจะเกิดขึ้นผ่านวิธีการแปลงเงินฝากในส่วนที่ไม่ได้รับการค้ำประกันเป็นหุ้น โดยผู้ถือหุ้นและหุ้นกู้ก็จะต้องมีส่วนร่วมในการเพิ่มทุนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สัดส่วนของเงินกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 9.0 ภายในเวลาสิ้นสุดของโครงการนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวทางการแก้ปัญหาภาคธนาคารที่ถูกผลักดันออกมาทันเวลา นอกจากจะช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะล้มละลายของธนาคารทั้งระบบแล้ว ยังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคธนาคารของไซปรัสครั้งสำคัญอีกด้วย แต่กระนั้น คงต้องยอมรับว่า ผลพวงของวิกฤตธนาคารไซปรัสในครั้งนี้ ก็ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบธนาคารของไซปรัส (ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูจากการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินภายนอกประเทศ) ถูกทำลายไปพร้อมกันด้วยเช่นกัน
แม้ข้อสรุปสำหรับความช่วยเหลือทางการเงินและขนาดเศรษฐกิจของไซปรัสที่ค่อนข้างเล็กเพียงร้อยละ 0.2 ของยูโรโซน อาจทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกยังไม่เพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงต่อสถานการณ์ลุกลามออกไปทั่วยูโรโซน ณ ขณะนี้ อย่างไรก็ดี ปัญหาในไซปรัสก็อาจสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า แม้โครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนที่ประสบกับปัญหาหนี้สาธารณะโดยธนาคารกลางยุโรป (ที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ) จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับภาพรวมของสถานการณ์วิกฤตหนี้ยูโรโซนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
แต่ความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานทั้งมิติเศรษฐกิจ-การคลัง-การธนาคาร ที่ถูกสั่งสมมาเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ทางการยูโรโซนมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ภายใต้โจทย์ที่กดดันและซับซ้อนมากขึ้น หากภาวะไร้เสถียรภาพปะทุขึ้นในประเทศที่มีบทบาทเป็นแกนสำคัญของเศรษฐกิจยูโรโซนเมื่อวิกฤตหนี้ถูกลากยาวออกไป