ก่อนหน้านี้บริษัทไทยพรีเมียร์ลีกได้เซ็น MOU ทำข้อตกลงร่วมกันกับเจลีกในการช่วยเหลือพัฒนานักเตะเยาวชน รวมถึงความช่วยเหลือทุกด้านของโตโยต้าไทยพรีเมียร์ลีก ทำให้หลายทีมในลีกของไทยมีโอกาสได้เข้ามาเป็นเป็นพันธมิตรทางลูกหนังร่วมกัน นอกจากการพัฒนานักเตะเยาวชน ผู้ฝึกสอน แล้ว ยังมีการอบรมทางด้านการแพทย์ร่วมกัน รวมถึงการสนับสนุนด้านการตลาด สนับสนุนการถ่ายทอดสด ทำให้ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีนักเตะญี่ปุ่นเดินทางมาค้าแข้งในโตโยต้าไทยพรีเมียร์ลีกหลายคน
ทีมของไทยที่เป็นพันธมิตรร่วมกับกับสโมสรจากจากญี่ปุ่นมีหลายทีมเช่น เอสซีจี เมืองทอง ที่จับมือกับ จูบิโล่ อิวาตะ บางกอกกล๊าส กับ เซเรโซ่ โอซาก้า ชลบุรี กับ วิสเซิ่ล โกเบ บีอีซี เทโรศาสน กับ ชิมิสุ เอสพัลส์ ขอนแก่น กับ คอนซาโดเล่ ซับโปโร่
แต่กว่าที่สโมสรจากญี่ปุ่นจะยอมเซ็น MOU ทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกับสโมสรของไทยต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 1-2 ปี โดยดูโยบายของสโมสรที่ต้องเน้นพัฒนาดาวรุ่งเหมือนกัน
ญี่ปุ่นใช้เวลาถึง 20 ปีเต็มในการพัฒนาเจลีก ด้วยนโยบายเริ่มต้นของเจลีกที่เป็นกฎข้อบังคับ จากเดิมที่สโมสรเป็นชื่อห้างร้าน บริษัท ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัด อย่างเช่น จูบิโล่อิวาตะ จากเดิมชื่อสโมสร ยามาฮ่าเอฟซี โดยสโมสรเหล่านั้นจะต้องมีความผูกพันกับท้องถิ่นและทำงานร่วมกันพัฒนานักเตะเยาวชนในจังหวัดอีกด้วย รวมถึงทุกสโมสรถูกบังคับต้องผลิตนักเตะดาวรุ่งเป็นคนท้องถิ่น สโมสรจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเองและมีบัญชีรายรับรายจ่าย มีสนามเป็นของตนเอง และสุดท้ายมีการควบคุมจำนวนนักเตะต่างชาติของแต่ละสโมสร ทั้งยังควบคุมรายจ่ายการซื้อนักเตะไม่ให้สูงจนเกินไป นี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเจลีก ที่จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตนักเตะเยาวชน
ตัวอย่างในการผลิตนักเตะเยาวชนของสโมสร กัมบะโอซาก้า พวกเขามีโครงสร้างการพัฒนานักเตะเยาวชนที่เข้มงวด สโมสรกัมบะ โอซาก้า มีนักเตะเยาวชนในทีม 30 คน เป็นเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอายุ 15-18 ปี และโรงเรียนที่เป็นสาขาของสโมสรยังฝึกนักเตะระดับ จูเนียร์ ยูธ อายุ 12-15 ปี อีก 250 คน รวมถึงระดับประถมศึกษาอีก 1500 คน เพื่อเป็นแหล่งผลิตนักเตะให้กับสโมสร
นักเตะรุ่นแรกที่ผ่านการฝึกเยาวชนตามนโยบายของสโมสรกัมบะโอซาก้าและเป็นผลผลิตที่ดีของสโมสรและเห็นได้ชัดในระดับทีมชาติ คือ เคซึเกะ ฮอนดะ นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลกและชุดเอเชี่ยนคัพที่ตอนนี้ไปค้าแข้งให้กับ ซีเอสเคเอ มอสโค