นายกฯ มั่นใจสภาฯ จะผ่านร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจง ถึงเหตุผล และความจำเป็นในการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน ยืนยันเป็นการทำเพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย เพราะเชื่อว่าทางส.ส. จะให้ความเห็น และเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การกำหนดวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่มีความปลอดภัยสูงสุด ใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี กู้เงินมาปีละ 300,000 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% หรือต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 10% นอกจากนี้ยังมีแผน 2-3 ไว้อีก รองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นส่วนการใช้หนี้คืนก็มั่นใจว่าสามารถจ่ายได้ ส่วนเหตุผลที่ออกเป็นพ.ร.บ.การเงินเพราะต้องการความต่อเนื่องโครงการ 5-6 ปี ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องทำโครงการต่อเนื่องไป ไม่ใช่รองบประมาณประจำปีเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจ
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันว่า มีรายละเอียดในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ชัดเจน และพร้อมชี้แจง ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส่วนใครจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 สามารถยื่นได้ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญ และ ไม่ต้องกังวลเรื่องการทุจริต เพราะโครงการนี้มีคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง คอยตรวจสอบความโปร่งใสอยู่
ด้านนายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้เวลา 12 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อตอบข้อชี้แจงในการอภิปราย โดยจะไม่มีการตั้งวอร์รูมเพื่อช่วยเหลือการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี และ ครม. พร้อมร้องขอให้พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลอย่างมีเหตุมีผลและสร้างสรรค์
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่ได้ขอให้รัฐบาลอย่าใช้วิธีการประท้วงด้วยการเปิดโปงข้อมูลโครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการมิยาซาวา ส่วนการอภิปรายขณะนี้ได้จัดสรรเวลาให้ผู้อภิปราย 60 คน จากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย โดยหากเนื้อหายังไม่เสร็จสิ้นอาจจำเป็นต้องต่อเวลาการอภิปรายออกไปอีก และยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่ได้คัดค้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินจำนวนมากที่รวมดอกเบี้ยอีก 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศต้องรับภาระหนี้ถึง 5 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 12 รัฐบาล หรือ 50 ปี ในการใช้หนี้ ทั้งที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสามารถใช้วิธีการทางบประมาณปกติได้