ทหารจับ 4 ผู้ต้องสงสัย เหตุลอบวางระเบิดทหารพราน ที่นราธิวาส
พ.ท.อิศรา จันทะกระยอม รองผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 48 เปิดเผยว่า ทหารพรานที่ 48 และ 49 จับผู้ต้องสงสัย 4 คนที่ก่อเหตุลอบวางระเบิดทหารพราน อำเภอเจาะไอร้อง เมื่อช่วงเช้า วานนี้ (28 มี.ค.) ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 5 นาย หลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย บ้านเจาะเกาะ ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่ จากการที่ทหารพรานที่ 48 ปะทะกับกลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ ระหว่างค้นพื้นที่เป้าหมาย ที่บ้านกูแบปูยู ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม เป็นเหตุให้นายอับดุลรอเม็ง ดือเลาะ ผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายจับ คดีความมั่นคงถูกยิงเสียชีวิต และอีก 3 คน หลบหนีไปได้
ส่วนในช่วงค่ำวานนี้ มีรายงานว่า เกิดเหตุใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 กราดยิงใส่ฐานปฏิบัติการในพื้นที่บ้านบากง ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการเฉพาะกิจของทหารพราน กรมทหารพรานที่ 49 ชุด 4909 โดยผู้กอ่เหตุได้ยิงจากบริเวณด้านหลังฐานปฏิบัติการ ซึ่งติดกับแม่น้ำสายบุรี จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้น คาดว่า เป็นการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์
ส่วนที่จังหวัด ยะลา เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ อาสาสมัครรักษาดินแดนแล้วยิงซ้ำ บนถนนบริเวณหมู่ 4 บ้านลูโบะกาโลร์ ตำบลปุโรง อำเภอกรงปินัง ทำให้อาสาสมัครบาดเจ็บ 6 นาย ส่วนที่จังหวัดปัตตานี พบวัตถุต้องสงสัยที่จุดตั้งถังขยะบริเวณสามแยกระหว่างถนนยะหริ่งกับถนนกลาพอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งเมื่อตรวจสอบ พบว่าภายในกล่อง เป็นตะปูและใบมีด แต่ไม่มีดินระเบิดและตัวจุดชนวนระเบิด ส่วนข้างกล่องเขียนข้อความข่มขู่ และพบใบปลิวปลุกระดมด้วย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คิดว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากการคัดค้านการเจรจา เพราะผู้ก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่ม ย่อมมีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าก่อนหรือหลังพูดคุยก็มีเหตุระเบิดมาตลอด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกดดันเจ้าหน้าที่ในการเจรจา เพราะทุกวันนี้ผู้ก่อเหตุก็กดดันเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว จึงต้องดูว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความสงบ ทั้งนี้การพูดคุยเป็นเพียงทำให้เหตุการณ์ลดลง แต่จะลดลงได้หรือไม่ยังตอบไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้าใจ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถือว่ายังเป็นสิ่งสำคัญ
สถิติเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่มีการลงนามพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มาเลเซีย จนถึงวันที่ 28 มีนาคม ที่เริ่มพูดคุยครั้งแรก ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุไม่สงบรวม 108 ครั้ง ทั้งการลอบยิง วางระเบิด วางเพลิง และเหตุป่วนเมือง มีผู้เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 60 คน