ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีตรัฐมนตรี สธ.เตือน "นพ.ประดิษฐ์" อย่าดื้อทำสาธารณสุขแตกแยก จากP4P

สังคม
17 เม.ย. 56
09:54
170
Logo Thai PBS
อดีตรัฐมนตรี สธ.เตือน "นพ.ประดิษฐ์" อย่าดื้อทำสาธารณสุขแตกแยก จากP4P

ชี้ถอยพีฟอร์พี จะได้รับการยกย่องก่อนสายเกินไป ขณะนี้กลุ่มภาคประชาชน เริ่มเข้ามาหนุนแพทย์ชนบทเพื่อเคลื่อนไหวแล้ว

 นพ.มงคล  ณ สงขลา อดีตปลัดและรมว.สาธารณสุข สุดทนกับสภาพที่ผู้บริหารทั้งการเมืองและข้าราชการประจำไฟเขียวนำม๊อบวิชาชีพของ รพ.ใหญ่ในเมือง ชนกับการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบท เพื่อปกป้องอำนาจและนโยบายของตน ถึงกับแสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊ค ด้วยการเตือนสติผู้บริหาร ว่า  “...ประวัติศาสตร์ได้จารึกความแตกแยกในกระทรวงสาธารณะสุขไว้แล้วด้วยความขมขื่น ผู้บริหารทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ ยังภูมิใจในการเป็นผู้นำองค์กรที่แตกแยกอยู่หรือ ใครผิดใครถูกยังไม่ต้องพิสูจน์ แต่การรักษาความเป็นเอกภาพทางการบริหารองค์กรเป็นบทบาทหลักของผู้บริหารมิใช่หรือ หากยังฝืนยื้อให้กลุ่มต่างๆมาชนกันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น ถอยออกมาอย่างผู้ที่มีสติสูง หาทางพูดคุยกันใหม่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานบริการสาธารณะสุขในชนบท มาให้ความเห็นจะทำให้หลงทางกันไปใหญ่” 

 
อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขให้ความเห็นต่อนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการให้บริการว่า “อยากยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควร ที่มีสถิติว่าการคลอดอายุต่ำกว่า20ปี มีวันละ 370ราย 10ราย อายุต่ำกว่า 15 ปี  ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนต้องไปทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น วัด โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่ยากสาหัส ใช้เวลา ประสานงานหลายทิศ ถามว่ามีตัวชี้วัดไหม ถ้ามีให้แต้มเท่าไร งานอย่างนี้มีมากในชนบท แม้แต่งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนจะได้รับเชิญ และต้องไปร่วม เพราะต้องเชื่อมไว้ประสานงานแก้ปัญหาสาธารณะสุขในชุมชน จะทำตัวชี้วัดให้ครอบคลุม และให้แต้มที่เป็นธรรมทำได้ยาก”
 
นพ.มงคล ณ สงขลา ย้ำว่า การถอยอย่างผู้เจริญแล้วในขณะนี้ดูเหมือนจะสายเกินไป แต่เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างพังทลายลงไป
 
ข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของผู้อาวุโสในระบบสาธารณสุข ที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบบริการ ส่งต่อแบบเครือข่ายของ รพ. ระดับต่างๆ และบุกเบิกงานสาธารณสุขมูลฐานในยุคสมัย นพ.เสม  พริ้งพวงแก้ว อดีต รมว.สาธารณสุข ต่อเนื่องถึงสมัย นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กำลังหารือเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของไทยที่เคยเป็นเอกภาพ ทำเชิงรุกเป็นทีม ทุกคนทำด้วยใจ หลายคนเป็นห่วงว่าการปล่อยให้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงหน่วยงานต่างๆ และผลักดันนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน หรือ พีฟอร์พี แบบไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และอาจไม่สอดคล้องกับสภาพงานของพื้นที่  รวมทั้งนโยบายเมดิคอลฮับ  จะเอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชน และทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐอ่อนแอลง  ประชาชน ผู้ป่วยในชนบทเดือดร้อน  ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงของสังคม โดยเฉพาะความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ โดยจะมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว
 
มีรายงานข่าวว่ากลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเครือข่ายคนพิการกำลังจะเคลื่อนไหวขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการออกนโยบายที่ผิดพลาดมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยและประชาชน เหมือนตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับระบบป้องกันและการแพทย์ฉุกเฉินรับมือกับเจ็ดวันอันตรายในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฎว่ามียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นจากเดิมมีแนวโน้มค่อยๆลดลง ขณะที่บทบาทของหน่วยงานต่างๆ เช่นสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือ สพฉ. สสส. สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขลดน้อยลง หรือแทบไม่มีบทบาทชัดเจนเหมือนเช่นที่ผ่านมา 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง