<"">
ฝ่ายกฎหมายไทยย้ำ กัมพูชา หวังให้ศาลโลกตัดสินคำพิพากษา ปี2505ใหม่
จากนั้น เวลา 15.45 น. วันที่ 17 เมษายน ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดน ทีมกฎหมายฝ่ายไทย ขึ้นชี้แจงต่อศาลโลกว่า ความจริงแล้วกัมพูชา ไม่ได้ต้องการให้ศาลโลกตีความคำวินิจฉัย ปี 1962 แต่ต้องการให้เปลี่ยนคำพิพากษา ปี 2505 จากสิ่งที่กัมพูชาแสดงในย่อหน้า 45 เพราะไม่มีเหตุหรือผลใดต่อการตีความ ด้วยเป็นคำกล่าวลอยๆ ส่วนคำที่กัมพูชาขอให้ตีความ มีประเด็นที่กว้างมากขึ้นจากคำขอในครั้งแรก แต่เห็นความพยายามให้ครอบคลุมพื้นที่ 4.6ตร.กม.นั้น
"ความพยายามอ้างแผนที่ แอนเน็กซ์ 1หรือแผนที่ระวางดงรัก ซึ่งปี 2505 ศาลโลกปฏิเสธจะใช้กำหนดเขตแดน มาขอให้ศาลโลกพิจารณาอีกครั้งจึงไม่สมเหตุสมผล เป็นคำขอที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยม หวังให้ศาลโลกเปิดให้ตีความคำพิพากษาใหม่ เท่ากับเป็นการบ่อนทำลายสิ่งที่ศาลโลกเคยทำเอาไว้ปี 2505 " ศ.โดนัลด์ แมคเรย์ กล่าว
ศาสตราจารย์อแลง แปลเล่ต์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยปารีส ผู้แทนฝ่ายไทยคนที่ 4 บอกว่าไทยจำยอมรับคำพิพากษา ปี 2505 อย่างเจ็บช้ำตามหลักฐานที่นำมาแสดงนี้ จากแผนที่ฝ่ายไทยนำมาอ้าง เพื่อหักล้าง เส้นสีชมพูคือพื้นที่ที่ไทยปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาล แต่กัมพูชาไม่ได้ปฏิบัติตาม เมื่อเจ้านโรดมสีหนุเฉลิมฉลอง บริเวณปราสาทพระวิหาร เมื่อจบคำพิพากษาแล้ว เจ้าสีหนุ ตรัสด้วยว่า ยินดีที่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ซึ่งประจำการอยู่อีกฝั่งหนึ่งของรั้วลวดหนาม ที่รัฐไทยได้สั่งการให้ล้อมรั้วแล้วด้วย พร้อมกับข้อความที่ตรัสอีกว่า "ตอนนี้เราได้ปราสาทคืนมาแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะมาพิพาทอะไรกันอีก"
ศ.แปลเล่ต์ ยังแสดงแผนที่ ซึ่งบ่งชี้ถึงพื้นที่ที่เป็นปัญหาประมาณ 0.07 ตร.กม. ดังนั้น เมื่อกัมพูชา ขอให้มีการตีความเรื่องที่ศาลโลกเคยพิพากษา ปี 2505 ให้มาพิจารณาใหม่ ถือเป็นการดูถูกศาลโลก เมื่อการร้องฝ่ายเดียวของกัมพูชา เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็เพราะต้องการใช้พื้นที่ส่วนของไทย เกินกว่าขอบเขตของปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษา ไทยจึงประท้วง ทำให้กัมพูชาต้องขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น