ธงสัญลักษณ์พรรคการเมืองต่างๆ ถูกนำไปติดตั้งทุกชุมชนทุกพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย เพื่อประกาศให้รู้ว่าพรรคได้ส่งผู้สมัครในเขตดังกล่าว รัฐกลันตันซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย และอยู่ติดชายแดนจังหวัดนราธิวาสของไทย ถือเป็นพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเข้มข้น ระหว่างพรรคอิสลามมาเลเซียหรือพรรคปาส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกับพรรคบาริซัน เนชั่นแนล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลในครั้งที่ผ่านมา
หนึ่งในตัวแปรที่จะสามารถเพิ่มจำนวนส.ส.ให้แต่ละพรรคการเมือง ก็คือกลุ่มคนสยาม หรือคนไทยพุทธที่ถือสัญชาติมาเลเซียซึ่งอยู่ในรัฐกลันตันกว่า 15,000 คน แต่หากรวม 4 รัฐตอนเหนือของประเทศมาเลเซียก็จะมีจำนวนกว่า 100,000 แสนคน จึงเป็นหนึ่งในฐานเสียงสำคัญที่พรรคการเมืองในมาเลเซียไม่อาจมองข้าม
รูปแบบการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย จะเน้นการแนะนำนโยบายพรรคการเมืองว่า จะทำอะไรให้กับประชาชนในช่วง 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง มากกว่าตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่า พรรคได้สรรหาผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติดีที่สุดแล้ว ดังนั้นบรรยากาศการหาเสียงจึงเน้นไปที่ธงสัญลักษณ์ของพรรค มากกว่าการติดตั้งโปสเตอร์ซึ่งเป็นรูปของผู้สมัคร
การแข่งขันทางการเมืองที่ค่อนข้างสูง และรัฐกลันตันถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลกลางมาเลเซีย เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลสองสัญชาติที่อาจเดินทางมาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคฝ่ายค้าน กงสุลใหญ่ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน จึงเตือนให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าออกรัฐกลันตันในช่วงนี้ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง เพราะอาจจะถูกจับกุมได้หากกระทำผิดกฎหมาย
ประเทศมาเลเซียกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งแม้จะเปิดโอกาสให้คนสยามได้เลือกตั้งผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆอย่างเสรี แต่นายกสมาคมคนสยามรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียระบุว่า ที่ผ่านมาก็ได้ติดตามว่าพรรคการเมืองใดให้ความช่วยเหลือคนสยามอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง และในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศมาเลเซีย จึงจำเป็นต้องรวมพลังเลือกพรรคการเมืองที่คนสยามสามารถพึ่งพาได้