คกก.สมานฉันท์แรงงานไทยเรียกร้องดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงคุณภาพชีวิตแรงงานภายหลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศว่า หากมองในด้านตัวเลขของค่าจ้างถือว่าดี แต่หากมองด้านของคุณภาพชีวิตแล้วกลับเท่าเดิม หรือแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทุกปี ขณะที่นายจ้างบางแห่งพยายามหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นค่าจ้างด้วยการนำเงินสวัสดิการต่างๆ มาจ่ายรวมกับค่าจ้าง หรือบางโรงงานก็ปิดกิจการไป ทำให้ปัจจุบันแรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก
ขณะที่จากผลสำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของแรงงาน พบว่า หากต้องการให้แรงงาน 1 คน เลี้ยงคนในครอบครัวได้ 2 คน จะต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 560 บาท แต่หลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้แล้ว จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 2 ปี ซึ่งคิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นทุกปี ดังนั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรจะปรับขึ้นตามไปด้วย
รัฐบาลจึงควรเข้ามาควบคุมราคาสินค้าที่กำลังจะปรับขึ้น เช่น ค่าทางด่วนจากเดิม 45 บาท จะถูกปรับเป็น 50 บาท ค่ารถโดยสารประจำทางก็กำลังจะปรับขึ้นอีก 2 บาท ค่าแก๊ส แอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ก็กำลังทยอยปรับขึ้นเป็นลิตรละ 24 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่กำลังจะปรับขึ้น ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างแรงงานอย่างมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี พ.ศ. 2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง เนื่องจากปัจจุบันข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้างมีมากขึ้น หากมีสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น จะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีแรงงานในระบบประมาณ 4 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเป็นการสมยอมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อไม่ให้ถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานจึงควรดูแลให้แรงงานกลุ่มนี้ได้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท
ขณะเดียวกัน ก็ควรดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และการใช้สิทธิประโยชน์ของกองทุนเงินทดแทน เพราะเวลาลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงานสถานประกอบการบางแห่งไม่ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน แต่ให้ไปรักษาในสถานพยาบาลเอกชน เนื่องจากสถานประกอบการกลัวมีสถิติอุบัติเหตุ และไม่ได้รับรางวัลอุบัติเหตุเป็นศูนย์
นอกจากนี้ รัฐควรดำเนินงาน และจัดสรรงบดูแลแรงงานนอกระบบให้มีความปลอดภัยในการทำงาน และคุณภาพชีวิตที่ดีตามแผนยุทธศาสตร์