<"">
กลุ่มนปช. ในนามกลุ่มวิทยุชุมชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมนัดชุมนุมอีกครั้ง หลังให้เวลา 1 สัปดาห์ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนเริ่มกิจกรรมต่อต้านขับไล่และผลักดันการแก้มาตรา 309 เพื่อยกเลิกกฎหมายรับรองและคุ้มครองการกระทำ ที่เกิดจากเหตุยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
แต่การชุมนุมบริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญของกลุ่มดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ไม่มีกิจกรรมใด ๆ แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาลงมติรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอมแล้ว พร้อมลงความเห็นให้ขยายเวลาการชี้แจงข้อกล่าวหาออกไป ท่ามกลางกระแสการลดแรงกดดันและการตั้งข้อสังเกต ว่า กลุ่ม นปช.กับพรรคเพื่อไทย กำลังขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างเป็นเอกภาพ
กลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงเอกภาพอีกครั้ง ระหว่าง กลุ่ม นปช.กับพรรคเพื่อไทย ต่อกรณีการแก้รัฐธรรมนูญและต่อต้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หลังห่างเหินเมินกันเพราะเห็นต่างเรื่องนิรโทษกรรม โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันในอำนาจโดยชอบตามบัญญัติ มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ ขณะที่แนวร่วม นปช. ชุมนุมคัดค้านอำนาจศาล ที่เชื่อว่าทำหน้าที่เกินขอบข่ายอำนาจที่มีอยู่
<"">
<"">
ขณะที่ผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นถึงคำยืนยันในอำนาจหน้าที่ต่อกรณีรับคำร้อง ขอให้วินิจฉัยเรื่องสมาชิกรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ เข้าข้ายกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ตั้งแต่มติรับคำร้องนายสมชาย แสวงการ "3 : 2" ขณะเดียวกันก็มีมติ "5 : 3 " รับคำร้องนายบวร ยสินทร และมติรับคำร้องพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม "5 : 3"
และตามกระบวนการถือว่าเป็นไปตามกฎหมายคือการส่งสำเนาคำร้องของคู่กรณีให้ผู้ถูกกล่าวหา คือสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คนแล้ว หากแต่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนรษฎร แจ้งว่าอยู่ระหว่างปิดสมัยประชุม ซึ่ง ส.ส.266 คนไม่ใครได้รับหนังสือ ขณะที่ ส.ว. 46 คน ขอขยายเวลาในการชี้แจงออกไป โดยศาลเห็นชอบภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้
แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จะลงมติรับคำร้อง แต่เหตุผลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อยที่ไม่รับคำร้อง ซึ่งแจงเหตุผลว่าการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้นข้อกล่าวหาจึงอาจเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าเท่านั้นและด้วยเหตุผลเดียวกันที่ผนวกกับข้อสังเกตเรื่องการขยายเวลารับคำชี้แจงจาก ส.ว. ก็มีกระแสว่าผลสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญ อาจยกคำร้อง เพื่อยับยั้งความร้อนแรงทางการเมือง แต่ก็มีมุมมองที่ส่งสัญญาณว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือตัวแปรสำคัญทางการเมืองที่จะรักษาและปกป้องกฎหมายสูงสุดของประเทศ
โดยเฉพาะสมมุติฐานที่ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตราจะถูกขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จ ควบคู่ไปกับกระบวนการพิจารณาตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ด้วยนัยทางการเมือง ระหว่าง พรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. ที่กลับมาประสานความตกลงจนเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วง ราวปลายปี 2556 นี้