ตรวจสอบที่มาใบปลิวอ้างชื่อกลุ่ม
หลังจากมีใบปลิวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มีเนื้อหาข่มขู่จะก่อเหตุรุนแรงเพื่อให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อ ในการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมา โดยอ้างชื่อนักรบกลุ่มฟาตอนี ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ใบปลิวที่พบเป็นของแนวร่วมกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ ขณะที่ภาคประชาสังคมเชื่อว่า ใบปลิวที่พบเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติในกระบวนการสร้างสันติภาพ
ใบปลิวที่พบในพื้นที่ชายแดนใต้ มีเนื้อหาข่มขู่จะก่อเหตุรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อ ในการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมา โดยอ้างชื่อนักรบกลุมฟาตอนี ถูกตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นของแนวร่วมกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ เนื่องจากลักษณะใบปลิวที่พบต่างจากที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร จากเดิมที่เป็นภาษามลายู รวมทั้งการใช้กระดาษเอ 4 และมีทั้งการเขียนด้วยลายมือและพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ขณะที่การตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคงยังไม่สรุปยืนยันที่มาและวัตถุประสงค์ของใบปลิวที่พบ แต่ได้เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่อย่างเข้มงวดหลังการข่มขู่
มันโซร์ สาและ กรรมการสภาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อว่า ใบปลิวที่พบเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่อต้านกระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือที่เรียกว่า สปอยเลอร์ ซึ่งแม้จะเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุย แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องปกติในกระบวนการสร้างสันติภาพที่เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ และเป็นเรื่องที่สังคมต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันถึงองค์ประกอบที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนสร้างสันติภาพ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ ข้อข้องใจที่เกิดขึ้นจากใบปลิวที่พบ กรรมการสภาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเห็นว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นควรออกมาแสดงท่าทีเพื่อป้องกันความสับสนของสังคม ขณะที่สิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนจะทำได้ระหว่างนี้เพื่อให้กระบวนการสร้างสันติภาพขับเคลื่อน คือการเปิดเวทีเรียนกระบวนการสร้างสันติภาพร่วมกับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน