รมว.ศึกษายืนยันยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีการเรียนการสอนไร้คุณภาพ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดอยู่ในข่ายไม่จำเป็นต้องคงอยู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยมาก และมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับก็ให้ยุบรวมโรงเรียนแห่งนั้น รวมถึงต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนว่า รัฐบาลไม่มีกำลัง และงบประมาณมากพอ ที่จะพัฒนาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกัน
ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน เพราะ สพฐ.ได้จัดระบบรับ-ส่งนักเรียนไว้รองรับแล้ว โดยเตรียมงบประมาณไว้จัดซื้อรถตู้รับ-ส่งนักเรียน 1,000 คัน แต่ในบางพื้นที่ อาจจะให้เอกชนเข้าประมูลรับไปบริหารจัดการแทน จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้มาก หรือในกรณีที่เด็กย้ายไปโรงเรียนใหม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก อาจจะจัดงบประมาณจัดซื้อจักรยานให้เด็ก
ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงอยู่นั้น จะต้องมีการบริหารจัดการใหม่ ใช้วิธีรวมกลุ่มกันจัดการเรียนการสอน นำครูและทรัพยากรที่แต่ละโรงเรียนมีอยู่มาใช้ร่วมกันเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพขึ้น
ขณะที่ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของภาครัฐว่า หากกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาตามบริบทแวดล้อม
รวมทั้งขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน โดยเปลี่ยนเป็นส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดู ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้หากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนแล้วนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศ จัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ปัจจุบันจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีทั้งหมด 14,816 โรง น้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 5,962 โรง แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดไม่เกิน 20 คน 709 โรง, จำนวนนักเรียนไม่เกิน 21-40 คน 2,090 โรง, จำนวนนักเรียนไม่เกิน 41-60 คน 3,163 โรง