ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์ ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"

เศรษฐกิจ
2 เม.ย. 68
14:58
1,926
Logo Thai PBS
ทรัมป์ ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"
อ่านให้ฟัง
13:31อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พาณิชย์-เอกชน” รับมือ “ทรัมป์” ขึ้นภาษี คาดกระทบสินค้าอุตสาหกรรม-เกษตรฯ ประเมินเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ ปธ.หอการค้าแนะนำเข้าสินค้าสหรัฐ - ลดแรงกดดันการค้า หวั่นสินค้าจีนทะลักไทย สวมสิทธิส่งออก

วันนี้ (2 เม.ย. 2568) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา พร้อมตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เตรียมพร้อมรับมือนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาซึ่งจะประกาศมาตรการทางการค้าที่ตอบโต้ภาษีกับคู่ค้าสหรัฐ โดยคณะทำงานได้มีการเตรียมประชุมและทำแผนการเจรจาเชิงรุกร่วมภาครัฐกับภาคเอกชนไว้แล้ว

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากผ่านมาสหรัฐได้ประกาศใช้มาตราการด้านภาษี 4 รูป ประกอบด้วย มาตราการขึ้นภาษีรายประเทศ มาตราการขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า ,ขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ก่อปัญหาด้านยาเสพติด การอพยพเข้าเมืองและ ขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและไทย เนื่องจากมีสัดส่วนการค้าการโลก 20 % และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย แต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งการเพิ่มภาษีในรอบแรกไทย สินค้าที่ได้รับผลกระทบล็อตแรก คือ กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา เหล็กขึ้นจากภาษี 0 -12.5 % เป็น 25 % อลูมิเนียมจาก 0-6.25. % เป็น 25 %

สหรัฐฯเก็บภาษีคู่แข่งในทุกประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก และยังส่งได้ตามปกติเพียงแต่ชะลอลง เพราะเป็นสินค้าสหรัฐฯ จำเป็นต้องนำเข้า ส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากเดิม 0-4.9 % เป็น 25 % ซึ่งจะมีผล 3 เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นภาษีไทยอีก 2-3 รายการ คือ สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อาจปรับภาษีนำเข้าเป็น 25 % , ยา ,ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ไทยจะถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐ ฯ ในการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าให้เท่าที่ไทยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ

หากสหรัฐ ฯ ขึ้นภาษีเท่ากับไทยเก็บในกลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตร 10% คาดว่าทำให้ไทยเสียหาย 7,000-8,000 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์

สำหรับแนวทางการเจรจานั้นที่ผ่านมาคณะทำงานได้เดินทางเข้าพบยูเอสทีอาร์ สภาคองเกรส เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอนแนะตามขั้นตอนที่สหรัฐเปิดรับความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ลงทุน ผู้นำเข้าจากทุกประเทศรวมทั้งไทยเพื่อให้ขี้แจงข้อมูล

ปรับลดภาษี-เพิ่มนำเข้าสินค้าเกษตร แก้ขาดดุลการค้า

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยอาจจะใช้แนวทางในการปรับลดภาษีนำเข้าและเพิ่มปริมาณนำเข้าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อ และเครื่องใน สุรา และเครื่องบิน โดยอาจประสานให้บริษัทการบินไทยเช่าหรือซื้อจากสหรัฐฯ แทน

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอาจไม่สามารถลดการขาดดุลการค้าที่สูงถึง 30,000-40,000 ล้านดอลลาร์กับไทยได้ ดังนั้นจะต้องทำทุกมิตินอกเหนือจากการค้า เพราะต้องมองในเรื่องของการลงทุน หุ้นส่วนทางพันธมิตร รวมทั้งต้องมีการสร้างเสถียรภาพการค้าเพื่อลดการขาดดุล

รัฐบาลสนับสนุนให้ไทยเข้าไปลงในสหรัฐเพื่อสร้างการจ้างานในสหรัฐมากขึ้น โดยเน้นในรัฐที่ทรัมป์ให้ความสำคัญ ซึ่งอุตสาหกรรมอาหาร และพลังงาน พร้อมเข้าไปลงทุนในสหรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังมีข้อกังวลในเรื่องการย้ายฐานการผลิตบางประเทศมายังไทยทำให้เกิดการสวมสิทธิสินค้าไทยไปสหรัฐ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ขึ้นบัญชีสินค้าที่เสี่ยงสวมสิทธิประเทศไทยแล้ว 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากจีน

อย่างไรก็ตาม ไทยเตรียมรับมือผลกระทบและมาตราการเยียวผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยวางเป้า 2 แนวทาง คือ การเยียวยาเร่งด่วนทั้งผู้ประกอบ เอสเอ็มอี เช่น ลดดอกเบี้ย เข้าแหล่งเงินทุนมากขึ้น ส่วนในระยะยาวต้องเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างเสร็จโดยเร็ว โดยเอฟทีเอไทยอียูจะเสร็จในปีนี้แน่นอน เพื่อชดเชยการถูกต้อบโต้ภาษีจากสหรัฐ

การเตรียมรับมือและเจรจาคณะทำงานคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความเสียหายกับประเทศให้น้อยที่สุด โดยยึดหลักประโยชน์ร่วมกัน 2 ฝ่าย สร้างสมดุลทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะเสนอแผนเจรจาให้นายกฯเป็นคนตัดสินใจ

นายสมภพ พันธนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ไทยกับสหรัฐมีความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งในเรื่องการนโยบายพลังงาน และการโอกาสด้านการลงทุน โดยในปี2567 ไทยได้นำเข้าน้ำมันนำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลว มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์

ล่าสุดลงนามนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1 ล้านตันต่อปี รวมระยะเวลา 15 ปี รวมมูลค่า 7,500พันล้านดอลลาร์นอกจากนี้ปตท.ยังมีการลงทุนในสหรัฐ 1,200 ล้านบาทในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ล่าสุดได้มีการพบว่าหารือผู้ว่าการรัฐอลาสก้า โดยไทยสนใจเข้าลงทุนในอุตสากรรมก๊าซเอลเอ็นจี

ปธ.สภาอุตฯ หวั่นจีน สวมสิทธิ์ "สินค้าไทย" ส่งออกสหรัฐฯ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของทรัมป์ในการขึ้นภาษี เพื่อต้องการดึงการลงทุนและการจ้างงานกลับคืน ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลสหรัฐเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก คาดอุว่าตสาหกรรมที่เกินดุลมากก็จะได้รับผลกระทบ เช่น เหล็ก และอะลูมินัมที่โดนขึ้นภาษีไปก่อนแล้ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยไทยส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้จะมีการขึ้นภาษีแบบเจาะจง ซึ่งจะทำให้กลุ่มยานยนต์ และชิ้นส่วนรับผลกระทบเพิ่มอีก ซึ่งภาคเอกชนเตรียมแผนรับมือ รวมถึงต้องเตรียมข้อมูลชี้แจงด้วยว่าการเกินดุลบางส่วนก็มาจากการที่สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทย และส่งออกกลับไปสหรัฐ เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็ยังเกินดุลไทยหลายส่วน โดยเฉพาะธุรกิจบริการออนไลน์ ดาต้าเซอร์วิส รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ สอท.เป็นห่วงคือ สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐฯ มีการจับตาค่อนข้างมาก อีกทั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มไปมากขึ้นเยอะซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเร่งนำเข้าก่อนใช้มาตรการภาษี แต่สิ่งที่สวนทางคือดัชนีการผลิตในประเทศที่ลดลง และสอดคล้องตัวเลขนำเข้าจากจีนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำสินค้าจีนเข้ามาเพื่อใช้สิทธิส่งออก หรืออาจนำวัตถุดิบมาผลิต แต่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 10-20% แต่ใช้วัตถุดิบจากจีนถึง 70-80 %

ตัวเลขที่น่าสนใจการนำเข้าจากจีนยังเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนม.ค.2568 เพิ่มถึง 20% โดยเฉพาะเหล็ก ยางรถยนต์ สอท.จึงร่วมกับสมาชิกตั้งทีมติดตามดูอย่างใกล้ชิด พร้อมตั้งแพลตฟอร์ม FTI EYE เพื่อรับแจ้งข้อมูล หากพบพฤติกรรมดังกล่าว และเร่งนำมาแก้ไขให้ทันท่วงที

หอการค้า จี้เพิ่มนำเข้า "สินค้าสหรัฐ"เร่งเจรจา FTA

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทรัมป์ มีนโยบายมีชัดเจนการขึ้นภาษีกับประเทศที่ได้หนุนการค้ากับสหรัฐ รวมถึงเรื่องดึงการลงทุนเข้าไปในสหรัฐ หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหาร พบว่า ไทยเกินดุลสหรัฐฯ 142,654 ล้านบาท โดยไทยเป็นผู้ส่งออกเกษตรอาหารอันดับที่ 11 ของโลกและไทยยังไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก

นายพจน์ อร่ามวัฒนนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย

ดังนั้น ไทยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควต้าภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล (Fair and Balance Postion) ในการเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง

ทั้งนี้ ทางหอการค้าฯ มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กับทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้มีสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมถึงไทย สร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยและผู้ประกอบการไทยในทุกระดับต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

และขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่างๆ ที่จะไม่กระทบต่อคู่ค้าและเกษตรกรภายในประเทศ เช่น พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน

สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเซลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลถอฮอลล์ (Whisky & Wine) รวมถึงเครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุดสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออกหอการค้าฯ มองว่านโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง

ปัจจุบันประเทศจีน เกาหลีและญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกันแล้ว อีกทั้งสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับแคนาดาในการเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ทางหอการค้าฯ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลของไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA ไทย-ยุโรป FTA อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้ให้ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ของไทยเติบโดขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า1 % รวมทั้งการส่งออกจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 10 %

อ่านข่าว:

 "ทรัมป์" ป่วนโลกขึ้นภาษีสินค้า "จีน-ไทย" การ์ดสูง รับมือรอบด้าน

"ทุเรียน" ยังครองแชมป์ส่งออก 2 เดือนนำรายได้เข้าไทยกว่า 4 พันล้านบาท

หอการค้าไทยจี้รบ.ตั้งทีมพิเศษ รับมือทรัมป์2.0 หวั่นกระทบ ศก.ไทยทรุดรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง