ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการจับตา “3 รอยเลื่อน” ชี้กระทบแรง เพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินอ่อน

ภัยพิบัติ
2 เม.ย. 68
15:21
2,356
Logo Thai PBS
นักวิชาการจับตา “3 รอยเลื่อน” ชี้กระทบแรง เพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินอ่อน
อ่านให้ฟัง
06:21อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (2 เม.ย.2568) ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “สังคายนา ระบบเตือนภัย” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ในบริเวณภูมิภาคของเรา มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่มาก มีรอยเลื่อนที่เห็นเป็นแนวยาวจากทางทิศเหนือลงใต้ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเมียนมา บางส่วนอยู่ในจีน บางส่วนอยู่ในประเทศไทย แต่ที่อยู่ในประเทศไทย เป็นรอยค่อนข้างเล็ก และมีอัตราการเลื่อนตัวต่ำกว่าที่อยู่ในฝั่งเมียนมา

และในเมียนมาเองก็มีรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือก ระหว่างเปลือกของอินเดียกับเปลือกของฝั่งไทย แนวรอยต่ออยู่ตามแนวทะเลอันดามัน ไปจนถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา ที่พูดมานี้เป็นแหล่งที่กำเนิดแผ่นดินไหวได้ทั้งหมดเลย แต่ว่าเราเคยประเมินความเสี่ยงไว้ก่อนหน้านี้ เป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้เราเข้าใจปัญหานี้อยู่ว่า ตัวที่จะมีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้มันมีไม่กี่แหล่ง

แหล่งตัวแรกที่อาจจะส่งผลได้ก็คือ รอยเลื่อนใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งแหล่งพวกนี้อาจจะทำให้เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.5 ได้สูงสุด และจะส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ ได้ เพราะอยู่ใกล้ เมื่อหลายสิบปีก่อนก็เคยเกิดขึ้น ขนาด 5.9 แล้วมันก็มีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นกรุงเทพฯ ยังมีอาคารสูงน้อยมาก

แต่ที่เป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ มาก ๆ ก็คือ รอยเลื่อนสะกาย ที่ผ่ากลางเมียนมา จากมัณฑะเลย์ ลงมา ผ่านเนปิดอว์ เฉียดย่างกุ้ง แล้วแนวสุดท้ายที่อาจจะเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ ได้ ก็คือ แนวมุดตัวของแผ่นเปลือก ซึ่งเราเรียกว่า แนวมุดตัวอาระกัน

ทั้ง 3 แหล่งนี้ คิดว่ามันเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ไกล มันก็ส่งคลื่นแผ่นดินไหวได้มาถึงกรุงเทพฯ ถ้าเผื่อกรุงเทพฯ เป็นแบบภาวะปกติ ถ้าธรณีวิทยาเหมือนจุดอื่น ๆ ในโลก เราก็คงไม่ต้องเป็นห่วงกังวลอะไรมาก

แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นแหล่งดินอ่อนขนาดใหญ่ เป็นแหล่งดินอ่อนขนาดยักษ์ ที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่มันขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่าตัว แม้ว่าจะอยู่ห่างเป็นพันกิโลเมตร แม้มันจะอ่อนแรงลงแล้ว แต่มันจะขยายขึ้นมาอีกได้ 3-4 เท่าตัว นั่นหมายความว่า ถึงแม้จะเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองกาญจน์ หรือเกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเมียนมา แม้ว่าอยู่ไกลหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร หรือแม้แต่แนวมุดตัวอาระกัน แม้จะเดินทางมากรุงเทพฯ อ่อนแรงไปแล้วก็ตาม

มันจะถูกขยายให้แรงขึ้นใหม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่กับว่า ขยะขึ้นมา 4-5 เท่าตัวเท่านั้น แต่ที่มันขยายขึ้นมาเป็นคลื่นความถี่ต่ำ หมายถึงว่าการสั่นสะเทือนบนผิวดิน มันเคลื่อนตัวแบบช้า ๆ กว่ามันจะครบรอบใช้เวลาหลายนาที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว มันสับไปสับมาซ้ายทีขวาทีเป็นแบบนั้นเลย การสั่นอย่างช้า ๆ สลับไปมา จึงไม่ส่งผลต่ออาคารขนาดเล็ก แต่อาคารที่มันโยกตัวเข้าจังหวะกับพื้นดิน คืออาคารสูง พอจังหวะมันตรงกัน มันจึงขยายความแรง และส่งผลกระทบต่ออาคารสูงได้ ผลการศึกษาที่ตามมาก็บอกว่าไม่มีผลกระทบกับอาคารขนาดเล็กเท่าไหร่

ตอนนี้เรามีมาตรฐานแล้ว เรากำหนดมาตรฐานการออกแบบอาคาร มาตั้งแต่ปี 2550 กำหนดกฎหมายว่า อาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ เรามีมาตรฐานการออก โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ในกรุงเทพฯ มาตรฐานนี้ได้กำหนดเส้นกราฟ

กรุงเทพฯ ได้กำหนดพื้นที่ออกเป็น 10 พื้นที่ พื้นที่ที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ พื้นที่ กทม.และธนบุรี และมีเส้นกราฟที่วิศวกรสามารถนำไปเอาไปคำนวณแผ่นดินไหวได้ ก็เป็นเส้นหมายเลข 5 อันนี้ระบุความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น

คำถามคือว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.แผ่นดินไหวมันรุนแรงขนาดที่เราประเมินไว้มั้ย ซึ่งเราเชื่อว่ามันสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฉะนั้นมีโอกาสเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่มันจะเกิดขึ้น และมีโอกาสมาก ๆ ที่มันจะไม่เกิดขึ้น แต่เราต้องออกแบบเผื่อไว้

โชคดีที่กรมอุตุนิยมวิทยา เก็บข้อมูลไว้ มีตัวสถานีวัดความรุนแรงแผ่นดินไหวทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ มี 5 แห่ง ตอนนี้เราได้ข้อมูลมา 2 แห่งคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เราจึงรู้ว่ากรุงเทพฯ มันสั่นแรงแค่ไหน ตรงนี้เรียกว่าอัตราเร่งของแรงสั่นสะเทือน จะอธิบายว่า กราฟในแนวดิ่ง หรือแนวตั้ง ยิ่งค่าสูงแรงที่กระทำต่ออาคารแรงมาก ยิ่งเส้นลงมาต่ำ ก็จะเบาลง ส่วนแนวราบคือ ภาพสั่นการโยกไหว ว่านานเท่าไหร่ กราฟเส้นสีม่วง จะบอกว่า หากเราออกแบบอาคารให้สามารถรองรับถึงจุดนี้ได้ อาคารก็จะไม่พังลงมา

การออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ที่เราทำกันทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เราเน้นให้เสาต้องไม่พัง กำแพงอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กต้องไม่เสียหาย เราเน้นโครงสร้างหลักต้องไม่แยกจากเสา เราเน้นที่โครงสร้างหลัก เราไม่เน้นที่โครงสร้างรอง เราไม่เน้นที่กำแพงกั้นห้อง ระบบท่อน้ำ ท่อประปา ฉะนั้นมีโอกาสเสียหายได้ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดความเสียหาย ทำให้เราไม่อยากเข้าไปอยู่

อ่านข่าว : 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง