ทางออกแก้ปัญหาร.ร.ขนาดเล็ก
การเรียนคอมพิวเตอร์ถือเป็นวิชาที่ สุดารัตน์ ม่วงกรุง ชั้น ม.1 ร.ร.บ้านหนองประดู่ ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ให้ความตั้งใจเป็นพิเศษ เธอบอกว่ามีโอกาสใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น เพราะก่อนหน้าที่ย้ายมาเรียนที่นี่ เธอเรียนอยู่ที่ ร.ร.บ้านหนองน้ำใส จนถึงชั้น ป.5 ด้วยสภาพที่เป็นร.ร.ขนาดเล็ก ครูไม่เพียงพอ จึงถูกยุบลงเมื่อกว่า 2 ปีการศึกษาที่แล้ว และมาควบรวมกับ ร.ร.บ้านหนองประดู่
ร.ร.บ้านหนองประดู่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดสอนตั้งแต่ชั้น อ.1-ม.3 และเป็นโรงเรียนหลัก ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือ สพป. ลพบุรี เขต 2 นำโรงเรียนขนาดเล็กภายในตำบลเดียวกันอีก 3 แห่งมาควบรวมด้วย คือ ร.ร.บ้านหนองน้ำใส, ร.ร.บ้านหนองกระสังข์ และ ร.ร.บ้านเนินสวอง
แม้ต้องปรับตัวกับภาระหน้าที่ สถานที่ทำงานใหม่ แต่จ.ส.ต.บรรเจิด สุกุรา อดีตครู ร.ร.บ้านเนินสวอง ก็ยอมรับว่า เพื่อแลกกับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การควบรวมโรงเรียนจึงมีความจำเป็น
การสร้างความเข้าใจกับชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ แม้ในช่วงแรกจะมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน ที่เห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระ โดยเฉพาะการเดินทาง แต่ด้วยระยะทางของโรงเรียน ที่อยู่ห่างกันภายในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ละแห่งจึงจัดรถบริการรับส่งนักเรียน โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งการเรียนการสอน ที่มีประสิทธิภาพ ครูที่เพียงพอ จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจ แม้ว่าหลายคนจะเสียดายโรงเรียนที่ต้องปิดตัวลง
กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน ที่ช่วยตัดสินใจต่อการบริหารจัดการสถานศึกษา เป็นสิ่งที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำและยืนยัน จากนี้การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก แม้จนถึงที่สุดแล้วต้องเข้าสู่การยุบ ควบรวมโรงเรียน ก็ต้องอาศัยความเห็นจากชุมชนเป็นสำคัญ