สวรส.จัดเวทีหาทางออกวิกฤต
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดเวทีระดมปัญญาหาทางออกวิกฤต P4P ที่มีองค์กรเอกชนนำมาใช้ โดยพบว่า มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่สำหรับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีความพร้อมในขณะนี้ เพราะมีปัญหาเรื่องรูปแบบการประเมินและการวางเป้าหมาย
เวทีวิชาการวิกฤติ P4P ระดมพลังปัญญาร่วมหาทางออก ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส.จัดขึ้น โดยเชิญตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ชมรมแพทย์ชนบทและภาคเอกชน ร่วมนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการและประสบการณ์จากองค์กรที่นำระบบ P4P ไปใช้
ตัวแทนภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารบุคคลในหลายองค์กรบอกว่า การทำ P4P ต้องให้ความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ สร้างระบบให้ดึงดูดคนเข้าองค์กร รักษาคนเก่าเอาไว้ให้ได้ มีกลไกช่วยเหลือ หากเกิดปัญหา และสร้างแรงจูงใจที่ดี โดยมีจุดแข็งคือ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ สร้างแรงจูงใจในรูปแบบของเงิน
แต่ก็มีจุดอ่อนที่การประเมิน จะไม่วัดจากประสบการณ์การทำงาน ไม่เน้นการทำงานเป็นทีม หากตั้งเป้าไม่ถูก งานสำคัญจะถูกละเลย ทั้งนี้ในแง่ของเอกชนที่ประสบความสำเร็จ จะปรับเฉพาะในมิติของแรงจูงใจ เช่น ใช้ระบบP4P เพื่อประเมินการให้โบนัส แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนพื้นฐาน สวัสดิการพื้นฐาน และค่าตอบแทนที่ไม่เป็นรูปเงิน
ดังนั้น การดำเนินการด้านค่าตอบแทนต้องทำความเข้าใจด้านวัตถุประสงค์ และตั้งเป้าให้ชัดเจน ลดความเหลื่อมล้ำ ออกแบบผลประเมิน ที่ยุติธรรม และอิงวัฒนธรรมองค์กรเป็นหลัก ซึ่งหากมองจากความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในการปรับค่าตอบแทนครั้งนี้ ยังคงมีปัญหาเรื่องรูปแบบการประเมินและการวางเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจึงยังไม่ควรรีบดำเนินการ แต่ควรใช้รูปแบบความสมัครใจและรับฟังความคิดเห็นจากทุกด้าน
ด้านนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันตลอด 2เดือนที่คัดค้านการปรับค่าตอบแทนแบบ P4P แสดงให้เห็นถึงผลกระทบหากกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ และยืนยันไม่ใช่ข้อเรียกร้องส่วนตัว แต่เพื่อประชาชนส่วนรวม ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพไทย จากรัฐสวัสดิการไปเป็นแบบพึ่งพาเอกชน ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ จึงจำเป็นต้องไปแสดงจุดยืนหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากข้อเรียกร้องที่ผ่านมาของบุคคลากรทางการแพทย์ ไม่เคยได้รับตอบสนองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข