ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประมวลภาพข้อมูล ก่อน ประชุม กนง. 29 พ.ค. ...เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจริงหรือ?

เศรษฐกิจ
27 พ.ค. 56
09:00
100
Logo Thai PBS
ประมวลภาพข้อมูล ก่อน ประชุม กนง. 29 พ.ค. ...เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจริงหรือ?

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน เศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่การขยายตัวระดับปกติ หลังเติบโตสูงมากในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา แม้ไม่ส่งสัญญาณลบชัดเจน แต่มิได้สะท้อนว่าไร้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพในอนาคต

  กลับมาเป็นประเด็นกดดันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ลดดอกเบี้ยกันอีกครั้ง หลังสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกของไทย ขยายตัวต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ เพียงร้อยละ 5.3 ต่อปี ลดฮวบฮาบลงจากระดับร้อยละ 19.1 เมื่อปลายปีก่อน และหลุดคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6 แต่ยังรวมไปถึงประมาณการของตัวแบงก์ชาติเองด้วย ซึ่งประเมินไว้ว่าน่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 7

ตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จีดีพีรายไตรมาสเคยขยายตัวต่ำสุดในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 8.9 เป็นสาเหตุหนึ่งให้ กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึงสองครั้งติดต่อกัน ครั้งละร้อยละ 0.25 ดังนั้น ตัวเลขจีดีพีไทยที่ยังอยู่ในแดนบวกดังเช่นในปัจจุบันจึงอาจมิใช่เหตุผลที่ “แรงพอ” ให้ กนง. หั่นดอกเบี้ย และที่จริงแล้วอัตราการขยายตัวที่ระดับร้อยละ 5.3 นั้นยังนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการขยายตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมาอยู่เกือบร้อยละ 1 เลยทีเดียว
 
จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีพบว่าจีดีพีไตรมาสแรกของไทยยังคงยืนเหนือแนวโน้มระยะยาว (หรือที่เรียกว่าระดับศักยภาพ) เล็กน้อย ที่ระดับร้อยละ 0.8 จากเดิมที่เคยอยู่สูงกว่าระดับศักยภาพถึงร้อยละ 4 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 55 ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ยังคงยู่สูงกว่าระดับศักยภาพประมาณร้อยละ 1 และ 2 ตามลำดับ ดังนั้น การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์อาจจะเป็นการที่เศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ก็เป็นได้ หลังจากที่เร่งตัวขึ้นสูงมากในช่วงก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณชะลอตัวที่ชัดเจนดังเช่นในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้หมายความว่าไร้ความเสี่ยงที่จีดีพีในไตรมาสสอง (และถัดๆ ไป) จะหลุดลงมาขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจหักหัวกลับสู่ระดับศักยภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งในประเด็นนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ได้กล่าวกับสื่อมวลชนไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ถ้าเศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ นโยบายการเงินต้องมาเติมให้เต็ม ถ้าเศรษฐกิจผ่อนแรงขับเคลื่อนหรือโมเมนตัมน้อย ดอกเบี้ยก็สามารถผ่อนได้ แต่ต้องดูให้รอบคอบก่อนพิจารณา” 
 
ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันชะลอตัวแล้วหรือยัง แต่ควรให้น้ำหนักไปข้างหน้าว่า สัญญาณลบทางเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้นแล้ว และ/หรือ คาดว่าอาจเกิดขึ้น จะรุนแรงและกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในวงกว้าง จนอาจทำให้การขยายตัวของจีดีพีไม่สอดคล้องกับระดับศักยภาพหรือไม่
 
ในสภาวะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ช่วยเปิดช่องว่างให้สามารถลดดอกเบี้ยลงได้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของแบงก์ชาติก็คงจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมในการประคับประคองอุปสงค์ในประเทศเอาไว้ อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงได้ในระยะต่อไป ดังที่ ธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย อิสราเอล และเวียดนาม ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่ออุ้มอุปสงค์ภายในประเทศ และทัดทานการแข็งค่าของสกุลค่าเงินในประเทศตน ภายใต้สถานการณ์ส่งออกที่ยังไม่สู้ดีนัก กดดันให้ กนง. ลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25
 
แต่การขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อครัวเรือน และการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ จนอาจกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศในอนาคต จะยังคงเป็นความกังวลหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)บางท่านอาจสนับสนุนให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงต้องติดตามในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมที่หนักใจที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับ กนง. ก็ว่าได้ และคงเป็นอีกหนึ่งครั้งที่สาธารณชนจะจับตามองผลการประชุมมากที่สุด...ว่าสุดท้ายแล้ว...จะลดหรือไม่ลด (ดอกเบี้ย)
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง