ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทีดีอาร์ไอหนุน“สัญญาคุณธรรม”ลดโกงไฮสปีดเทรนด์

27 พ.ค. 56
09:11
74
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอหนุน“สัญญาคุณธรรม”ลดโกงไฮสปีดเทรนด์

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กระตุกปมไฮสปีดเทรนด์ ชี้ คอร์รัปชั่นเกิดได้ทุกขั้นตอนจนอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะและเพิ่มต้นทุนให้กับประชาชน พร้อมเสนอแนวทางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการขนส่งระบบราง ผ่าน“สัญญาคุณธรรม”เชื่อลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้

 แผนการลงทุนพลิกโฉมประเทศไทยในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้วงเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 2556-2553 มีไฮไลท์เป็นโครงการขนส่งระบบรางถึง 82% ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลพยายามปรับยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานในเทียบชั้นนานาประเทศ โดยแผนการลงทุนดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการแปรญัตติโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการลงทุนดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ยังไม่ตอบโจทย์ในด้านการลดต้นทุนการขนส่งหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ-การเงินเท่าที่ควร

 
นายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ลงทุนอย่างไรให้โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ : นโยบายของรัฐและบทบาทของประชาสังคม” ซึ่งทีดีอาร์ไอร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการวิจัย “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชั่น”
 
โดยได้นำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ ถอดบทเรียนคอร์รัปชั่นสู่โครงการลงทุนที่โปร่งใส กรณีศึกษาปัญหาคอร์รัปชั่นในอดีต เช่น กรณีศึกษา King Power Duty Free กรณีศึกษาโรงไฟฟ้าบางคล้า กรณีศึกษาศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนทางบกบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิม กรณีศึกษาโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กรณีศึกษาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 กรณีศึกษาโฮปเวลล์ และกรณีศึกษาเรือขุดหัวสว่าน  โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชั่นในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ว่า คอร์รัปชั่นจะส่งผลให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูงได้ ขณะเดียวกัน ปัญหาคอร์รัปชั่นยังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน และเบียดเบียนงบประมาณในการใช้จ่ายของรัฐในส่วนอื่น ๆ จนอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับประชาชนเนื่องจากสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพต่ำนั่นเอง
 
นายอิสร์กุล เสนอแนะแนวทางป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่น 3 ข้อ คือ 1. ควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) อย่างมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ  2. ควรมีการสร้างธรรมมาภิบาลในโครงการลงทุน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน  สร้างความโปร่งใสในการลงทุนผ่านการเปิดเผยข้อมูลทั้งในการจัดจ้างโดยภาครัฐ  และการร่วมทุนกับภาคเอกชน  และ 3. ควรมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันเห็นว่าทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ทั้งภาคธุรกิจ สื่อมวลชน นักวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อช่วยป้องกันปัญหาคอรัปชันตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
 
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ปาฐกถาพิเศษโดยกล่าวชี้แจงถึงโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่า เป็นโครงการระยะยาวที่คิดกันมานานในหลายรัฐบาลแล้ว เพียงแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้นำมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยรัฐบาลมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนความเจริญของประเทศในอนาคต ซึ่งการอนุมัติที่ผ่านมาเป็นเพียงกรอบการลงทุนที่กำหนดไว้ก่อน ไม่ใช่การใช้เงินทั้งหมดในครั้งเดียว  เนื่องจากแต่ละโครงการต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตัวเลขความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ตามระเบียบทั้งหมดก่อนจะนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ 
 
ที่ผ่านมามีแรงต้านมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่หลายฝ่ายมองว่ายังไม่คุ้มค่าการลงทุนมากนัก แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งถือว่าเป็นการสร้างโอกาสกระจายความเจริญ เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงถือเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ พัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานี รวมทั้งการเพิ่มโอกาสการสร้างธุรกิจใหม่ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งถือเป็นผลดีในเรื่องเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต
 
นายชัชชาติ ยังกล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆฝ่าย เพื่อสะท้อนมุมมองและรับฟังข้อเสนอแนะ จากทุกหน่วยงานให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เนื่องจากบางโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษา หรือบางโครงการยังไม่พร้อมทางหน่วยงานจะยังไม่ดำเนินการ รวมถึงถ้าเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บางโครงการก็อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติ ดังนั้นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมจึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นแต่ละโครงการให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ 
 
ขณะเดียวกันการดำเนินการในทุกโครงการจะต้องดำเนินการตามกระบวนการปกติ โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาความเหมาะสม การออกแบบรายละเอียด การร่างทีโออาร์ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 การรับรองผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความเห็นประชาชนทุกครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากโครงการใดพร้อมก็นำเข้าสู่กระบวนการนี้และเปิดประมูลในลำดับต่อไป
 
ขณะที่วงเสวนา นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ต้องการเห็นรัฐบาลชี้แจงการก่อสร้างโครงการแต่ละโครงการอย่างชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพิจารณาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าของโครงการ ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบรางโดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ ที่มองว่ามีความพร้อมมากที่สุดหากมีการดำเนินการ เพราะรัฐบาลชุดก่อนได้มีแนวคิดให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างแล้ว ส่วนรถไฟความเร็วสูงรัฐบาลควรรอเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ โดยทำการศึกษาให้รอบคอบมากขึ้น เนื่องจากบางประเทศใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควรในการศึกษาเรื่องดังกล่าว
 
นางสิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เห็นด้วยกับนายสุเมธ พร้อมเสนอแนะว่า ผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาควรยึดถือคู่มือการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ที่กรมบัญชีกลางกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 เพราะจะมีการจัดหาแหล่งเงินทุน การจัดหาเทคโนโลยีออกแบบก่อสร้างตลอดจนดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก่อนดำเนินโครงการผู้ว่าจ้างต้องทำ EIA และ HIA ด้วย และเชื่อว่าการบริหารจัดการโครงการในรูปแบบนี้จะช่วยป้องกันปัญหาคอรัปชั่นได้
 
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะรองเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ยอมรับว่า การทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ช่วงการประมูลเท่านั้น ดังนั้นองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นจึงเจรจาตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ สัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญา 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การประมูลโครงการย่อยต่างๆ ในโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาท ไล่เรียงตั้งแต่การออกเงื่อนไขการประมูลราคา (ทีโออาร์) วิธีการประมูล ระหว่างช่วงประมูล การกำหนดสเปค การประมูล การกำหนดราคากลาง รวมถึงการตรวจสอบโครงการและการจ่ายเงินด้วย เป็นการสร้างบรรทัดฐานในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่โปร่งใสภายใต้การตรวจสอบของสาธารณชน  ซึ่งในขณะนี้มีอาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาทิ ด้านการเงิน และกฎหมาย เป็นต้น  เข้าตกลงร่วมสังเกตการณ์แล้ว จำนวน 30 ราย
 
อย่างไรก็ตามวงเสวนา เห็นด้วยกับแนวคิด สัญญาคุณธรรม พร้อมทั้งเสนอแนะว่า รัฐบาลควรศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขนส่งระบบราง โดยเน้นสร้างธรรมาภิบาลในโครงการลงทุน และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 ขณะเดียวกันการต่อต้านคอรัปชั่นจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ สื่อมวลชน นักวิชาการและภาคประชาสังคม เนื่องจากปัญหาคอรัปชั่นส่งผลกระทบในวงกว้างและมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ 
  
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง