ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์ชนบทยืนยัน"อารยะขัดขืน" จับมือเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีประชุมด่วน ร่วมสหภาพฯป้องระบบยาของชาติ

สังคม
27 พ.ค. 56
12:30
132
Logo Thai PBS
แพทย์ชนบทยืนยัน"อารยะขัดขืน" จับมือเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีประชุมด่วน ร่วมสหภาพฯป้องระบบยาของชาติ

เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอชไอวี /เอดส์ ประเทศไทย เรียกประชุมด่วนผู้แทนจาก 7 ภาคเพื่อสรุปสถานการณ์คุกคามระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบยาของชาติที่กำลังถูกทำลาย พร้อมประกาศท่าทีระดมผู้ติดเชื้อเข้าร่วมยื่นข้อเสนอพบนายกฯ 6 มิ.ย. นี้ ด้านสหภาพฯ อภ.ประชุมสมาชิกคัดค้านการแปรรูปและทำลายองค์การเภสัชกรรม กลุ่มเพื่อนมหิดลแถลงการณ์พร้อมเปิดบัญชีหนุนการเคลื่อนไหว

 นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี และเอดส์  ประเทศไทย  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่ระบบบริการสุขภาพในชนบทและระบบหลักประกันสุขภาพรวมทั้งระบบยาของชาติกำลังถูกนโยบายเอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชนและบริษัทยาข้ามชาติของผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงสาธารณสุข ทำลาย คนดีไม่มีที่ยืน  ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเอดส์ ทั่วประเทศหลายหมื่นคนจากทุกภาคจะส่งตัวแทนประชุมด่วน  ในวันที่ 28 พ.ค. นี้ ที่สำนักงานเครือข่ายในกรุงเทพฯ เพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดท่าทีเข้าร่วมการชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ร่วมกับแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต และสหภาพฯ

 
“ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน เห็นว่านโยบายปฏิรูปที่ผิดที่ผิดทางของ รัฐมนตรีสาธารณสุข พรรคเพื่อไทย กำลังทำร้ายคนจน และผู้ป่วยในชนบท เอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชน และบริษัทยาข้ามชาติ ชัดเจนมากขึ้น สวนกระแสที่พรรคไทยรักไทย เคยทำไว้เมื่อสิบปีที่ผ่านมา จึงขอเรียกร้องให้นายกยิ่งลักษณ์ลงมาแก้ไขปัญหาโดยด่วน ก่อนที่ความเดือดร้อนของผู้ป่วยและคนจนจะเพิ่มมากขึ้น วันที่ 6 มิ.ย.นี้ ทางเครือข่ายผู้ป่วยพร้อมเข้าร่วมกับผู้ป่วยไตวาย และกำลังประสานเครือข่ายผู้ป่วยอื่นๆ”ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี  กล่าว
 
 ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เรียกสมาชิกประชุมใหญ่ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เพื่อกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวปกป้ององค์การเภสัชกรรม  คัดค้านการแปรรูป โดยมี นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และกรรมการชมรมหลายคนเข้าร่วมกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวด้วย
            
ข่าวจากกลุ่มเพื่อนมหิดล เป็นองค์กรภาคีความร่วมมือของบุคลากรในแวดวงสาธารณสุข นำโดยอดีตผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในยุคต่อสู้กับเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้สังคม ออกแถลงการณ์ฉบับที่หนึ่ง สนับสนุนการเคลื่อนไหวคัดค้านระบบระบบพีฟอร์พี ของรัฐมนตรีสาธารณสุขว่าจะทำลายระบบบริการสาธารณสุขของรัฐในชนบท และเป็นห่วงที่องค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการสร้างความมั่นคงด้านยาของชาติจะถูกทำลาย คนดี เช่น นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ที่ทำประโยชน์ให้ประเทศไม่มีที่ยืน 
 
ด้านนายบุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์  ผู้ประสานงานงานกลุ่มเพื่อนมหิดล  กล่าวว่า  กลุ่มเพื่อนมหิดลได้ติดตามนโยบายของ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความเป็นห่วง และเห็นว่าจะกระทบต่อประชาชนผู้ป่วยโดยตรง จึงเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบท และจะเปิดบัญชีเพื่อรับบริจาคเงินจากเพื่อนมหิดลและผู้รักความเป็นธรรมอื่นๆ สนับสนุนการเคลื่อนไหวปกป้องระบบสาธารณสุขเพื่อคนจนในชนบทในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ที่บ้านนายกรัฐมนตรี
 
วันเดียวกันนี้ เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง  (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร) ออกแถลงการณ์ ยืนยันสิทธิอารยะขัดขืนและคัดค้านการใช้ P4Pมาแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ4,6 ในโรงพยาบาลชุมชน
 
สืบเนื่องจากการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P ตั้งแต่ 1 เมษายน 2556 ในท่ามกลางกระแสการคัดค้าน อารยะขัดขืนเข้มข้นโดยโรงพยาบาลชุมชนในทุกพื้นที่ เนื่องจากนำเอาหลักการภาระงานP4P (ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย) มาสร้างความสับสนกับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉ.4,6ซึ่งมีหลักการสร้างแรงจูงใจและกระจายแพทย์ ทันตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในพื้นที่ชนบท ห่างไกลและทุรกันดาร โดยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้สั่งการให้มีการชี้แจงนโยบาย P4P แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดเห็นที่แตกต่างแสดงเหตุผลที่แท้จริงในการคัดค้านเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบด้านและรอบครอบ ณ.โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี   ทางโรงพยาบาลชุมชนใน 9 จังหวัด ภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ขอแสดงจุดยืนดังนี้
1. เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง มีมติไม่เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงฝ่ายเดียวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะทำให้มีการนำไปแอบอ้างว่ายอมรับนโยบาย P4P เนื่องจากนโยบาย P4P จะทำลายโรงพยาบาลชุมชนที่มีจุดเด่นที่วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม และการทำงานดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ไม่ใช่การทำงานเพราะล่าแต้มแลกเงิน
2. เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ขอสนับสนุนจุดยืนของชมรมแพทย์ชนบทต่อกรณีนโยบาย P4P กล่าวคือ
- ข้อเสนอที่ให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบ หนึ่งกระทรวงสองระบบ กล่าวคือ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ใช้ระบบค่าตอบแทนตามภาระ (P4P) และโรงพยาบาลชุมชนกลับไปใช้ระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นเดิม
 - ขอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขคืนประกาศฉบับที่ 4, 6 นำกลับมาใช้เช่นเดิมทั้งฉบับ  โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆทั้งสิ้น กล่าวคือ คงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ ตลอดจนวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงกลุ่มงานบริหาร และพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารด้วย ในอัตราเดิม และคงอัตราสำหรับบุคลากรที่มีอายุงานเกิน 21 ปีไว้เช่นเดิมด้วย และเพื่อลดความแตกต่างของค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายระหว่างวิชาชีพ ควรให้มีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับวิชาชีพเภสัชกร พยาบาล และวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งวิชาชีพสาย back office หรือสายบริหาร ทั้งที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย
3. เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง มีความเห็นว่า ข้อเสนอข้างต้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่หากรัฐมนตรีประดิษฐยังดื้อรั้นเดินหน้าใช้ P4P สำหรับโรงพยาบาลชุมชนต่อไป การอารยะขัดขืนจะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น และทางเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง จะร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศยื่นอุทธรณ์ที่บ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6  มิถุนายน 2556 เพื่อขอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
 
เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างและทั่วประเทศหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงคัดค้านด้วยความบริสุทธิ์ใจของบุคคลากรในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศคงจะดังเพียงพอในการ กระตุ้นจิตสำนึกและมโนธรรมของรัฐมนตรีและผู้บริหารทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุขให้ตื่นขึ้นมามองบุคคลากรในกระทรวงสาธารณสุขอย่างปราศจากอคติ(ลำเอียงเพราะรัก โกรธ กลัวภัยที่จะมาถึงตัว  ขาดสติและข้อมูลในการพิจารณาอย่างรอบครอบและรอบด้าน) และใช้เมตตาธรรมในการทำให้เรื่องนี้จบโดยเร็วที่สุด
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง