คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัว 5.0% แม้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง
ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยพาณิชย์ เผยว่าการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 เติบโตเพียง 5.3% โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและเครื่องดื่ม สาธารณูปโภค และพลังงานที่หดตัวเหนือความคาดหมาย
การส่งออกของไทยยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย การส่งออกของไทยในเดือนเมษายนซึ่งขยายตัวเพียง 2.9%yoy ภายหลังการแก้ไขของกระทรวงพาณิชย์ บ่งชี้ถึงอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังคงเปราะบาง แม้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศของกลุ่มยูโรโซนที่ยังคงอ่อนแอรวมถึงเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด
คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวได้ดี และโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำซึ่งจะสนับสนุนให้การลงทุนภาครัฐเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง นอกจากนี้การส่งออกที่น่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังของปีจะช่วยสนับสนุนให้ภาคการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชนยังสามารถขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 5.0% คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2013 จะอยู่ที่ราว 2.8% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.6%
ปัจจัยเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังคงมีน้อย เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวตามอุปสงค์โลกที่อ่อนแอและอุปทานจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่น่าจะมีแรงกดดันต่อราคาพลังงานซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อทั่วไป
นอกจากนี้ แผนการปรับขึ้นราคาแอลพีจีให้เป็นไปตามกลไกตลาดของภาครัฐยังคงไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ที่มีรายได้น้อย การปรับขึ้นราคาจึงอาจล่าช้าไปจากเดิม และแม้ว่าราคาแอลพีจีจะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็เป็นการทยอยปรับขึ้นเฉพาะในส่วนของภาคครัวเรือนก่อนเท่านั้น ทำให้แรงกดดันต่อระดับราคาในระยะต่อไปน่าจะบรรเทาลงไปบ้าง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดจะคงอยู่ที่ 2.50% จนถึงสิ้นปี 2013 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.75% เป็น 2.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด บ่งชี้ถึงความกังวลต่อแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดในไตรมาสแรก ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงไม่ฟื้นตัวดี อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันตลอดช่วงที่เหลือของปี 2013 ซึ่งแรงกดดันจากเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ
กนง. ได้แสดงความกังวลต่อหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เห็นว่าการขยายตัวในระดับสูงของหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะจากการให้สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ในภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการแมโครพรูเดนเชียล (Macroprudential measures) เพื่อกำกับการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง
คาดเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28.5-29.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2013
ความผันผวนของค่าเงินบาทลดน้อยลงภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากมุมมองต่ออัตราแลกเปลี่ยนและมาตรการที่อาจนำมาใช้โดยทางการไทย ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ทำให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินลดลงในระดับหนึ่ง และจะส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะต่อไปจากกระแสเงินทุนไหลเข้า การดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มปริมาณเงินของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น จะยังส่งผลให้เงินทุนยังคงหลั่งไหลมายังไทยและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อีกทั้งศักยภาพและแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทย จะยังคงดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศในรูปการลงทุนโดยตรง ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2013 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 28.5-29.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดย ธปท. จะยังดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนในระยะสั้น ทั้งนี้ ทางการอาจมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าในระยะถัดไป หากค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าเร็วขึ้นกว่าสกุลเงินในภูมิภาค