ศรัทธาต่อเจ้าพ่อจุ้ยและเจ้าพ่อกุมกรรณ์ ทำให้ชาวบ้านชุมชนวัดจำปามารวมตัวกันทุกปี เพื่อร่วมงานบุญสำคัญของชุมชน กว่า 200 ปี สิ่งเคารพคู่ย่านเชื่อมผู้คนริมคลองบางระมาดและคลองบ้านไทร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวสวนคลอง และย่านการค้าของคนไทย มอญและจีนที่อาศัยลำคลองย่านตลิ่งชันกว่า 30 สายสัญจร-ขนส่งค้าขายพืชผลการเกษตร นามเจ้าพ่อจุ้ย แปลว่าน้ำ และกุมกรรณ์ที่หมายถึงจระเข้ สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของคนริมน้ำ ซึ่งยำเกรงต่อสัตว์ประจำลำน้ำ
รศ.สุกัญญา สุจฉายา ผอ.ศูนย์คติชนวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในชุมชนชาวสวนชาวคลอง จะพบความเชื่อที่ผูกกันอยู่กับจระเข้
ชุมชนแห่งนี้ได้ชื่อว่าเกาะศาลเจ้า เพราะว่าถูกล้อมรอบด้วยคลองบางระมาด คลองบ้านไทรและคลองลัดวัดจำปา และยังสืบทอดวิถีของสังคมชาวน้ำที่ศรัทธาในศาลเจ้าพ่อจุ้ยและเจ้าพ่อกุมกรรณ์เป็นที่พึ่งพาทางใจ งานศิลป์วิถีถิ่นเกาะศาลเจ้าในวันนี้ เป็นการเปิดบ้านแสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างของชาวบ้านที่นี่ด้วยค่ะ
ทายาทตระกูลหว่างจันทร์ สืบทอดงานช่างของชุมชนมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว โดยภักดี หว่างจันทร์ สร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่หลังจากได้ไปฝึกหัดงานประดิษฐ์แป้งพวงจากครูช่างหลวงเมื่อปีที่แล้ว นอกจากรักษางานฝีมือช่างโบราณ ยังสืบสานงานช่างสกุลวัดจำปา จากเดิมที่เคยมีช่างฝีมือด้านงานปั้น-งานเขียน ดนตรี ขนม และงานแทงหยวกที่สืบทอดมาจากหลวงวัฒนศิลป์ การเปิดบ้านช่างแสดงงานศิลป์ ยังหวังให้คนภายนอกรับรู้ความสำคัญของย่านเก่า ตลอดจนชุมชนเห็นคุณค่าในถิ่นที่อยู่ของตนเอง
ด้านภักดี หว่างจันทร์ ช่างฝีมือสกุลวัดจำปา กล่าวว่า เราคิดกันว่าอยากทำงานท่องเที่ยววิถีถิ่นที่น่าสนใจ มีงานศิลป์ใหม่ๆ ที่ไม่มีใครทำ เพราะบ้านเราทำดอกไม้อยู่แล้ว จึงลองมาทำแป้งพวงดู
ด้าน ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ประธานชุมชนวัดจำปา เผยว่า ย่านนี้เป็นช่างมาก่อน มีสถาปัตยกรรม บ้านเก่าที่น่าสนใจ อย่างบ้านครูโขน บ้านดนตรีสมัยรัชกาลที่ 6 พอคนในชุมชนรู้ เขาจะภูมิใจในบ้านในที่ๆ อยู่ ไม่ขายที่ดินไม่มีคนนอกไม่ต้องกั้นรั้วเราอยู่กันอย่างสงบ
ชุมชนวัดจำปาเป็นย่านเก่าที่ยังรักษาวิถีชาวคลอง หลายปีที่ผ่านมา ชุมชนช่วยกันออกแบบการท่องเที่ยวให้ผู้มาเยือนสัมผัสเสน่ห์แท้จริงของถิ่นศิลป์ริมคลอง ที่ร้อยรวมใจด้วยวิถีชีวิตและศรัทธาที่มีร่วมกัน