มรดกภาพยนตร์แห่งชาติ สะท้อนสังคมบนแผ่นฟิล์ม
บันทึกจากเครื่องบินบี 29 ของฝูงบินจากกองบินสัมพันธมิตร ที่รับภารกิจทิ้งระเบิดถล่มกรุงเทพฯ ตอนกลางวันของวันที่ 14 ธันวาคม 2487 เป็นอีกหลักฐานทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในไทย ตัวอย่างภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติปีที่แล้ว ฉายให้ชมในงานแถลงข่าวการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 3 ปี 2556 ไม่เพียงเป็นการรักษาฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์มากคุณค่าทั้งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สะท้อนภาพสังคมในแต่ยุคสมัยไม่ให้สูญหาย หากหลายเรื่องแทบไม่เป็นที่รู้จัก จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ชมหนังเหล่านี้มากขึ้นและมีส่วนร่วมเสนอชื่อหนังในดวงใจขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 3 ในปีนี้
พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ เปิดเผยว่า มันจะเป็นได้ทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ชาติต่างๆ ในสมัยนึงคนขับแท็กซี่หน้าตาแบบนี้ แท็กซี่เปิดกระจก เราก็สงสัยว่าเอ๊ะเมืองไทยตอนนั้นไม่ร้อนเหรอ มันมีคุณค่าแต่เมื่อคุณค่ามันรวมกันเยอะ มันถึงจะถูกคัดเลือกเป็นมรดกของชาติ เพราะฉะนั้นตอนนี้ ประเด็นที่บอกว่างานเหล่านี้เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถ้ามันไปอยู่ในหิ้งมันก็อยู่ในหิ้ง แต่มันอยู่ที่ประชาชนต่างหาก เมื่อเห็นแล้วคุณอยากศึกษาอะไรอยากได้อะไรจากตรงนั้น
ขณะที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ กล่าวว่า มันจะได้ผลอย่างจริงจังแค่ไหน แต่เป็นจุดที่ดี เริ่มต้นที่ดี เพราะว่าอย่างน้อยหนังที่ขึ้นทะเบียนจะได้รับการโปรโมตมากขึ้น ในการที่จะมีกิจกรรมไปฉายต่างจังหวัด ไปฉายโรงเรียน ให้หนังที่คนชอบกันได้มีการแชร์เพราะบางทีมันไม่มีโอกาสดูอีกแล้ว
กล้องฟิล์มที่ถ่ายเล่นในครอบครัวบันทึกภาพระหว่างพาลูกๆเดินข้ามสะพานกรุงธนฯ หรือสะพานซังฮี้ ช่วงที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จดีนัก ของบุญเสริม ปุณณะหิตานนท์ ที่เก็บม้วนฟิล์มไว้นานกว่า 50 ปี หากความคงทนของแผ่นฟิล์ม ทำให้คงนำมาล้างและฉายได้เกือบสมบูรณ์ ตัวอย่างภาพยนตร์ที่สะท้อนคุณสมบัติความทนทานของแผ่นฟิล์มนำมาฉายในงานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก หรือ ซีปาว่า ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ย้ำความสามารถของฟิล์มในการเก็บรักษาได้นานเป็น 100 ปี เมื่อเทียบกับระบบดิจิตอลที่ไม่มีหลักประกันระยะเวลาที่จะจัดเก็บได้ หากกระแสโลกและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ก้าวสู่ยุคดิจิตอล ทำให้หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ต้องปรับตัวตาม พร้อมกับศึกษาระบบดิจิตอลควบคู่กับแผ่นฟิล์ม
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ต่อไปอนาคตหนังจะไม่มีฟิล์มแล้ว จะเป็นดิจิตอลหมดเลยเราต้องหาความรู้ด้านนี้ด้วย แปลวิกฤตว่าดิจิตอลอาจมีปัญหา แปลให้เป็นโอกาส เช่น ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาซ่อมฟิล์ม ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาเก็บรักษาฟิล์มโดยเฉพาะ หรือในช่วงระยะเวลาก่อนเปลี่ยนผ่านนี้ศึกษาข้อมูลอย่างดี เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมให้กับหอภาพยนตร์
เตือนใจ สินธุวณิก นายกสมาคม SEAPAVAA เผยว่า ต้องยอมรับว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนมาอนุรักษ์ในแบบดิจิตอล เขาบอกว่าอยู่ได้แน่ๆ 10-20 ปี แล้วหลังจากนั้นเราค่อยไปคิดว่าจะอนุรักษ์ของเดิมยังไง ในขณะเดียวกันเราก็จะไม่ทิ้งฟิล์ม
ที่ผ่านมามีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติมาแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 50 เรื่อง มีภาพยนตร์จากหลากหลายสาขา ถูกนำมาแปลงในระบบดิจิตอลเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ชมมากที่สุด ขณะที่ฟิล์มต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หนังไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ 4 เรื่อง จะนำมาฉายให้ได้ชมในวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2556 ที่โรงภาพยนตร์สยามพารากอน พร้อมกับให้ประชาชนร่วมเสนอรายชื่อภาพยนตร์ในดวงใจเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปีนี้ได้ที่ www.fapot.org