กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้าตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่ และจดประกอบรถหรูรวม 4 จุด โดยจุดแรกคือบ้านพักของนางพรพิมล เคหะฐาน กรรมการผู้จัดการบริษัท ธรรมะมอเตอร์ ริช จำกัด ที่บริเวณย่านหนองจอก ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มีข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่รับประกอบรถยนต์ และแจ้งจดทะเบียนประกอบรถยนต์หรูกับกรมสรรพสามิต และยังมีส่วนเชื่อมโยงกับรถยนต์แลมโบกินี ซึ่งเป็นรถยนต์หรู 1 ใน 6 คันที่ถูกไฟไหม้ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นางพรพิมลยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนรถยนต์แลมโบกินีคันที่เกิดเหตุไฟไหม้ แต่ยอมรับว่า มีคนชื่อ เป้ นำเอกสารมาติดต่อให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ แต่ได้ปฏิเสธ และส่งเอกสารคืนกลับไป เนื่องจากบริษัทไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนได้ เพราะที่ผ่านมาทางบริษัทรับจดทะเบียนในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็ก พร้อมเตรียมนำเอกสารที่บริษัทตนเองรับจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมดส่งมอบให้ดีเอสไอไปตรวจสอบ
ส่วนการตรวจค้นอีก 3 บริษัท คือ บริษัทที.เอ.เอ็น เอ็กเพรส นำเข้าเครื่องยนต์, บริษัทเจเอ็มดับบลิว มอเตอร์ นำเข้าโครงรถยนต์ ย่านนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และบริษัท พอใจ อ็อตพาร์ท จำกัด ย่านโชคชัย 4 โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ พบบริษัทเจเอ็มดับบลิว มอเตอร์ มีรถเบนซ์ รุ่น อี 250 ประกอบแล้วจำนวน 2 คัน, โครงรถยนต์ยี่ห้อเฟอร์รารี่, บีเอ็มดับเบิลยู ซี่รี่ส์ 7 และพบเครื่องยนต์, อุปกรณ์และอะไหล่ อีกหลายรายการ แต่ไม่พบผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของ ซึ่งได้ประสานกับตำรวจนครบาลฉลองกรุงอายัดรถยนต์ไปตรวจสอบ ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งพบชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ที่บริษัท พอใจ อ็อตพาร์ท จำกัด
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับ 6 หน่วยงานในการหามาตรการดำเนินการกับรถยนต์จดประกอบทีผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดมีมติว่าจะดำเนินคดีกับรถยนต์นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อนำมาจดประกอบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึง 1 พฤษภาคม 2556 และพบว่ารถยนต์หรูที่มีการจดทะเบียนแล้วมีทั้งสิ้น 6862 คัน ส่วนรถยนต์หรูที่รอจดทะเบียน อีกกว่า 3,000 คัน
โดยดีเอสไอจะทยอยออกหมายเรียกผู้ครอบครองรถนยนต์หรูที่มีมูลค่าตามท้องตลาดตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไปให้มาตรวจสอบทางกายภาพว่ามีร่องรอยการถอยประกอบจริงหรือไม่ พร้อมจะมีการทำแฟ้มประวัติรถยนต์หรูเหล่านี้เอาไว้ด้วย ส่วนรถยนต์หรูที่รอการจดทะเบียนอีกกว่า 3,000 คัน ทางเจ้าหน้าที่จะรอให้มีการจดทะเบียนให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นก็จะเข้าตรวจสอบเช่นเดียวกัน และหากใครไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบก็จะดำเนินการยึดรถทันที ซึ่งเบื้องต้น ดีเอสไอเชื่อว่ารถยนต์หรูที่นำมาจดประกอบนั้นมีการสำแดงเอกสารเป็นเท็จ