นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ตัวแทนรัฐบาล และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดยพอใจผลการตอบรับของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ที่ยอมรับข้อเสนอหลายประเด็น ไปพิจารณาแก้ไข
สำหรับผลเจรจาในวันนี้ (6 มิ.ย.) ได้ข้อตกลงร่วมกัน 5 ข้อ คือ กระทรวงสาธารณสุข รับปากจะไม่มีนโยบายเก็บเงินร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เเยกบทบาทกระทวงสาธารณสุข ออกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติอย่างชัดเจน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ใช้อำนาจ หรือล้วงลูกงบประมาณจาก สปสช.ตั้งกรรมการกลาง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องเกี่ยวกับการปลด นายเเพทย์วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พ้นจากตำเเหน่ง โดยมีอำนาจขอดูเอกสาร ข้อมูลต่างๆ โดยมีตัวเเทนเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ เป็นกรรมการด้วย เเละเรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ให้คงไว้โดยมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัวเลขเเละหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมร่วมกัน โดยมีเเพทย์ชนบทร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนที่เหมาะสม เเละดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบ P4P ตามความสมัครใจ เเละสอดคล้องกับพื้นที่ดำเนินการไม่เกิน 2 เดือน
ขณะที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันที่จะใช้นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P เช่นเดิม แต่จะชะลอการดำเนินการออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยระหว่างนี้ จะตั้งคณะทำงานจากทุกวิชาชีพ ร่วมกันปรับปรุงระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับพื้นที่การให้บริการ และชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย P4P ตั้งเเต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จนถึง 1 ตุลาคม 2556
ส่วนข้อเสนอที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรี สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพ้นจากตำเเหน่งนั้น ทางเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพได้ยื่นเรื่อง ให้กับนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เเต่ไม่สรุปว่าจะยังเคลื่อนไหวที่บ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 มิถุนายนนี้หรือไม่