ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ซึมซับ" พฤติกรรมแย่ ๆ จากวายร้าย "เรียลิตี้ โชว์" แบบไม่รู้ตัว

ศิลปะ-บันเทิง
6 มิ.ย. 56
14:44
3,599
Logo Thai PBS
"ซึมซับ" พฤติกรรมแย่ ๆ จากวายร้าย "เรียลิตี้ โชว์" แบบไม่รู้ตัว

พฤติกรรมแย่ๆ ที่ผู้คนไม่กล้าแสดงออกในชีวิตประจำวัน กลับพบได้อย่างดาษดื่นในรายการเรียลิตี้ โชว์ ที่หวังใช้ความรุนแรงกระตุ้นเรตติ้งผู้ชม ขณะที่วายร้ายในเรียลิตี้ โชว์หลายเรื่องกำลังโด่งดัง แต่มีผลวิจัยชี้ว่าการนำเสนอพฤติกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง มีผลต่อการรับรู้ของผู้ชมในชีวิตจริง

การเสิร์ฟอาหารที่ผิดพลาด และล่าช้านับชั่วโมง ตลอดจนริบเงินทิปของเด็กเสิร์ฟ และไล่ลูกค้าออกจากร้าน คือ ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในร้านอาหาร Amy's Baking Company ที่ถ่ายทอดใน Kitchen Nightmares เรียลิตี้ โชว์ของ กอร์ดอน แรมซี่ พ่อครัวชื่อดังผู้ให้คำแนะนำร้านอาหารที่กำลังประสบปัญหา แต่เทปนี้ คือ ครั้งแรกที่เขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เมื่อ เอมี่ บูซาโกล เจ้าของร้านไม่ยอมรับความเห็นของเขา และตอบกลับคำแนะนำด้วยความเห็นที่รุนแรง แต่เทปสุดท้ายของฤดูกาลที่ 6 นี้กลับมีผู้ติดตามหน้าจอโทรทัศน์กว่า 3 ล้านคน มีแฟนรายการไม่น้อยเดินมายังร้านแห่งนี้ ขณะที่หน้าเฟสบุ๊คของร้านก็มีคนคลิกไลท์เพิ่มจากไม่กี่พันเป็นเกือบแสนครั้งเพียงข้ามคืน 

 
ความสำเร็จของวายร้ายในเรียลิตี้ โชว์มีให้เห็นตั้งแต่ฤดูกาลแรกของรายการ Survivor เมื่อ ริชาร์ด แฮทช์ ผู้ชนะคนแรกของรายการ ใช้วิธีวางแผนการโหวตที่คู่แข่งนึกไม่ถึงกรุยทางไปสู่การเป็นผู้ชนะ แต่ทุกวันนี้พฤติกรรมของวายร้ายในเรียลิตี้ โชว์กลายเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับมากขึ้น ตั้งแต่ การจิกผม, เอาหัวโขกกัน, คว่ำโต๊ะเมื่อไม่พอใจ จนถึงการพูดจาหยาบคายออกโทรทัศน์ 
 
แต่วายร้ายเรียลิตี้ โชว์เหล่านี้กลับได้รับความสนใจจากสปอนเซอร์ให้มาเป็นพรีเซนเตอร์ หรือ ได้ออกแบรนด์สินค้าของตนเอง ทั้ง เทเรซซ่า จูดิเซ่ จาก The Real Housewives of New Jersey ที่มีผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังสือทำอาหาร  หลังโด่งดังจากการระเบิดอารมณ์คว่ำโต๊ะในทีวี อลาน่า ทอมป์สัน แห่ง Here Comes Honey Boo Boo กลายเป็นเด็กวัย 7 ขวบที่ได้เซ็นสัญญาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้ามากที่สุด แม้รายการจะถูกวิจารณ์ว่านำเสนอความเห็นแก่ตัวภายในครอบครัว ขณะที่สมาชิกซึ่งมีนิสัยหยาบคายที่สุดของรายการ Real World มักเป็นรายที่ถูกดึงตัวกลับมาออกรายการอีกครั้งเสมอ 

    

 
เจมส์ วิลต์ซ จิตแพทย์ผู้ศึกษาพฤติกรรมการชมเรียลิตี้ โชว์ ยอมรับว่า ผู้สร้างหันมาทำรายการแนวนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้ทุนสร้างไม่มาก หากล้มเหลวก็ถอดจากผังอย่างง่ายดาย หรือหากสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งรายได้ให้กับใคร 
 
ส่วน จูน เดียรี่ ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสาร มองว่า สาเหตุความโด่งดังของวายร้ายเหล่านี้เป็นเพราะพฤติกรรมของพวกเขาเป็นที่จับตาของคนดู ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์มองว่าเป็นโอกาสในการโปรโมตสินค้าอย่างดี 
 
ขณะที่ออเดรย์ ลองสัน นักจิตวิทยาที่ศึกษาพฤติกรรมแง่ลบจากการชมเรียลิตี้ โชว์ มองปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าเป็น Kardashian effect ซึ่งตั้งชื่อตาม คิม คาร์ดาเชียน ไฮโซสาวผู้โด่งดังจากพฤติกรรมมั่นใจตนเองสุดโต่งโดยไม่คำนึงถึงสายตาของคนรอบข้าง ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่ารายการเรียลิตี้ โชว์ทำให้ความหลงตัวเองกลายเป็นเรื่องปกติ และการเสนอพฤติกรรมก้าวร้าวและเห็นแก่ตัวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นที่ยอมรับพึงกระทำ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง