เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยมีนพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่องสำคัญ คือแนวทางปฎิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ซึ่งที่ผ่านมา พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ยังไม่เคยประกาศใช้
ถือเป็นครั้งแรก ที่จะมีการขอแนวทางกฎหมาย เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยฝุ่น PM 2.5
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข
นายสมศักดิ์ ระบุว่า การเสนอใช้กฎหมายควบคุมโรคฉบับนี้ เป็นไปตามมาตรา 14(2) ที่ระบุว่า “เสนอเขตพื้นที่ ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะต่อคณะรัฐมนตรี"
และเป็นไปตามมาตรา 35 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือ สุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรค มีอำนาจประกาศเขตพื้นที่ ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประกาศยกเลิกเมื่อมีเหตุอันสมควรหรือสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลง
อ่านข่าว กทม.ขยาย WFH ถึง 24 ม.ค. ฝุ่นมีแนวโน้มสูงทั้งสัปดาห์
หลายคนต้องเผชิญฝุ่นเมื่อออกนอกบ้าน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน
เกณฑ์ประกาศใช้กม.ควบคุมโรคคลุมฝุ่น
โดยมาตรการภายหลังการประกาศเขตพื้นที่ควบคุมโรค ผู้ว่าราชการจังหวัด สนับสนุนหน้ากากอนามัย แก่กลุ่มเปราะบาง ออกประกาศ WFH จัดทำศูนย์รองรับการอพยพ และขอความร่วมมือเกษตรกร
ส่วนโรงพยาบาล จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ควบคุมโรค ใช้กลไกทางกฎหมาย ม.30 ม.31 และ ม.33 ในการแจ้ง การรายงาน และการสอบสวนโรคจากฝุ่น PM 2.5
พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดลล้อม พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เดือน ก.ย.2562 ยังไม่เคยประกาศพื้นที่ WFH ตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในมาตรา 14(2) คณะกรรมการต้องดูพื้นที่ที่เข้าข่ายของ PM 2.5 มากกว่า 75 มคก.ต่อลบ.ม.หรือในพื้นที่สีแดง ในระยะเวลาติดต่อกันช่วงหนึ่ง แต่ล่าสุดพื้นที่สีแดงที่ติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง มากกว่า 3 วันยังไม่มี ซึ่งมี PM 2.5 จริง แต่ยังไม่เกินระยะเวลาที่ควรเสนอพื้นที่ต่อ ครม.ได้
แต่ในการดำเนินการ ก็มีการประชุม เพื่อให้อธิบดีกรมควบคุมโรค สามารถใช้วิจารณญาณได้ เพราะในมาตรา 35 ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถขอมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ประกาศในกรณี WFH ได้ โดยรายละเอียดการประชุมวันนี้ จะนำเสนอให้ครม. รับทราบว่าเราพยายามใช้กฎหมายฉบับนี้
เมื่อถามว่า เรายังไม่จำเป็นต้อง WFH ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยัง เพราะว่า PM 2.5 ระดับยังไม่เกิน 75 มคก.ต่อลบ.ม.ในระยะเวลายาว
ส่วนในสัปดาห์หน้า PM 2.5 สูงติดต่อกันต้องเสนอ ครม.รับทราบก่อน เพราะในกรณีใช้มาตรา 35 ก็ไม่ต้องใช้การประกาศพื้นที่ก่อน อธิบดีฯสามารถใช้วิจารณญาณร่วมกับผู้ว่าฯได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องสูงเกิน 3 วันใช่หรือไม่ ถึงประกาศ WFH ได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นแนวทางสิ่งที่เราควรประกาศ แต่ต้องขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิน
ฝุ่นมีมานานแล้ว แต่ไม่เกิดขึ้นในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
อ่านข่าว "ทรัมป์" ถอนตัวข้อตกลงปารีส เป้าหมายกู้อุณหภูมิโลก 1.5 องศาฯ สะดุด?
สภาพฝุ่นในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล พบค่าเกินมาตรฐานเกือบ 3 เท่าระดับสีแดง 30 พื้นที่
ส่งสนามบินตาก ภารกิจฝนหลวง-ไฟป่า-ฝุ่น PM2.5
นางมนพร เจริญศรี รมว.คมนาคม กล่าวว่า ส่งมอบท่าอากาศยานตาก ซึ่งเป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้บริหารจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 1 ต.ค. 2567
โดยกรมฝนหลวง ได้มีหนังสือถึง ทย.แจ้งความประสงค์ขอเป็นหน่วยงานใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานตาก เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้เป็นศูนย์หลักในการปฏิบัติการบินดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อใช้สำหรับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ดับไฟป่า และแก้ไขปัญหา PM 2.5
นายอนุชิต สุขนรินทร์ ผอ.กลุ่มวิชาการปฎิบัติการฝนหลวง กรมกล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้ยังอยู่ในฤดูหนาว และลักษณะอากาศเย็นเหมือนฟิล์มบางปกคลุมกทม.ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถลอยไปได้ ประกอบกับกทม.มีลมอ่อนและมีจุดความร้อนรอบๆพื้นที่กทม.
ดังนั้นสภาพอากาศปัจจุบันไม่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากความ ชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดฝน จึงปรับมาใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศสเปรย์น้ำลดอุณหภูมิบนชั้นบรรยากาศ และโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเปิดช่องระบายอากาศ
โดยช่วงเช้าได้มีปล่อยบอลลูนบินตรวจสภาพอากาศและมีการบินตรวจสภาพอากาศเพื่อนำมาวเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยในการสลายฝุ่น
เวลา 11.00 น.ตัวเลขฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานระดับสีแดง 30 พื้นที่
ขณะที่เว็บไซต์ Air4Thai กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานเมื่อเวลา 11.00 น.พื้นที่กทม.-ปริมณฑล มีค่าฝุน PM2.5 ในระดับสีแดง (มีผลต่อสุขภาพ) จำนวน 30 พื้นที่แล้ว โดยเฉพาะริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 8, เขตหนองแขม ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม 98.1 มคก.ต่อลบ.ม.ส่วนตลาดธนบุรีสนามหลวง 2 ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา 90.8 มค.ก.ต่อลบ.ม.สำนักงานเขตบางขุนเทียน ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน 85.1 มคก.ต่อ ลบม.