เปิด
ไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า บริษัทร่วมทุนไทย-จีน และ เค วอเตอร์ ของเกาหลีใต้ ผ่านหลักเกณฑ์ประมูลงานเทคนิค คว้าโครงการซึ่งมีวงเงินรวมกันกว่าร้อยละ 70 ต่างมั่นใจว่ามีเทคโนโลยีที่จะสามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ แต่จากนี้จะถูกติดตามการดำเนินโครงการในแต่ละขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงในการทุจริต โดยเฉพาะการส่งไม้ต่อไปยังบริษัทรับช่วง
การถอนตัวของกิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย และทีมไทยแลนด์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และประสบการณ์งานจัดการน้ำ ในประเทศมากที่สุด อีกกลุ่ม ด้วยเหตุผล ที่เปิดเผยต่อสาธารณะชน คือ ไม่สามารถทำตามเงื่อนไข ที่ กบอ. กำหนด โดยเฉพาะ ด้านราคา ซึ่งไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ
การถอนตัวทำให้ การประมูลโครงการขนาดใหญ่ เหลือคู่ชิงดำเพียง 2 กลุ่มบริษัท ได้แก่ กลุ่มไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จ๊อยเวนเจอร์ และ เค วอร์เตอร์ รัฐวิสาหกิจ จากเกาหลีใต้ ก่อน 2 บริษัท จะชนะใจ กบอ. ด้านเทคนิค แบ่งงานกันไป บริษัท ละ 1 กลุ่มโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกินกว่าร้อยละ 70 ของวงเงินทั้งหมด
ผู้บริหารเควอเตอร์บอกว่า บริษัท จะนำเทคนิคโครงการทางผันน้ำ ผ่านใจกลางเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ มาเป็นต้นแบบทำงานในประเทศไทย พร้อมชูจุดเด่นจากการใช้ระบบสัญญาณดาวเทียม และไร้สาย ในการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และชุมชน
ขณะที่กลุ่มไอทีดี พาวเวอร์ จ๊อยเวนเจอร์ มีรัฐวิสาหกิจ และบริษัทจัดการน้ำขนาดใหญ่ จากจีน ร่วมทุนกับ บริษัท ผู้รับเหมารายใหญ่ ของไทย และบริษัท ที่ปรึกษา ซึ่งทำงานศึกษาและออกแบบ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ให้กับกรมชลประทานมานากว่า 30 ปี จึงมั่นใจว่าจะทำงานนี้ ได้สำเร็จ แม้ต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาเวนคืนที่ดิน และแรงต่อต้านจากชุมชน
หากกบอ. สามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ โดยไม่มีการฟ้องร้องใดๆ กบอ. จะเชิญมาทำสัญญา และผู้ชนะประมูล ต้องวางเงินประกันล่วงหน้า ร้อยละ 5 ของราคาสัญญา ขณะที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. จะระดมเงินกู้ ให้ทันเวลาที่พรก.กำหนด 30 มิถุนายน 2556 เพื่อเบิกจ่ายเงินก้อนแรก สำหรับค่าที่ปรึกษา ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท
จากนั้น กบอ.จะออกหลักเกณฑ์ หรือ ทีโออาร์ เพื่อคัดเลือกบริษัทผู้ควบคุมโครงการ หรือ พีเอ็มซี ตลอดจน บริษัทรับช่วงต่อ หรือ ซับ คอนแทรค ซึ่งการคัดเลือกงานนี้ มีความสำคัญไม่แพ้ การหาผู้ชนะประมูลงานออกแบบและก่อสร้าง เพราะเป็นประเด็น ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นห่วงว่า สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และการฮั้วราคา เหมือนโครงการขนาดใหญ่ในอดีต