ร่องมรสุม ตัวการที่ทำให้ฝนตกชุก
ร่องมรสุม หรือ ร่องความกดอากาศต่ำ ก็คือ แนวของความกดอากาศต่ำ ซึ่งบริเวณหย่อมความกดอากาศต่ำ คือบริเวณที่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ และมีการคายความร้อนออกมามาก และอากาศร้อนน้ำหนักเบา จึงลอยตัวขึ้น แล้วนำความชื้นในอากาศไปก่อตัวเป็นเมฆ บริเวณหย่อมความกดอากาศต่ำจึงมีเมฆมาก และฝนมาก
แนวร่องความกดอากาศต่ำ เป็นบริเวณแนวที่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มาก โดยแนวนี้จะพาดในแนวทิศตะวันตก และตะวันออก โดยตำแหน่งจะเคลื่อน หรือเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ เมื่อร่องนี้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากก็ลอยตัวขึ้นเป็นเมฆ และมีฝนมาก
สำหรับประเทศไทย ร่องมรสุม เกิดจากการปะทะกัน ของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ถ้าแนวชนของร่องมรสุมยิ่งแคบ ก็จะเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองได้ง่าย
ตามสถิติแล้วช่วงเดือน มิถุนายน-กันยายน ร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหมือนอย่างเช่นในขณะนี้ ดังนั้นเมื่อไรที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่ามีร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน นั่นหมายถึงฝนจะตกหนัก ถ้าร่องอยู่นานก็จะทำให้ฝนตกนาน และอาจเกิดน้ำท่วมได้