ผลกระทบการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เสียงสะท้อนของชาวราชเทวี ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศขอเวนคืนที่ดิน เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ทางขึ้น-ลง หรือ ที่จอดรถรับ-ส่งสำหรับผู้โดยสาร ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ถูกตั้งคำถามถึงการใช้พื้นที่สำหรับโครงการพัฒนาที่เกินขอบเขต โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
การพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับความเจริญและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยละเลยบริบทและการมีส่วนรวมของชุมชน ถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการก่อสร้างพื้นที่อำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถรับ-ส่ง ผู้โดยสาร ในรัศมีไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เป็นประเด็นนี้นักวิชาการด้านผังเมืองวิเคราะห์ว่า เเผนการดำเนินงานดังกล่าว อาจได้ไม่คุ้มเสีย
ขณะที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเเห่งประเทศไทยหรือ รฟม.ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะต้องการจัดระเบียบรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่เบียดเสียดกันอยู่ตามริมถนน ให้สามารถเข้าไปจอดรับ-ส่งข้างในได้ นอกจากนี้เรื่องความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ไม่ควรข้าม
ขณะที่ระยะความห่างของแต่ละสถานี ซึ่งใกล้กันเกินไป และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเเห่งประเทศไทย ชี้เเจงว่า การกำหนดพื้นที่เป็นไปตามเเผนเเม่บทที่ได้วางไว้เเล้วก่อนหน้านี้
เเม้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในส่วนของโครงสร้างใต้ดิน จะอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียดเเละประเมินผลกระทบ เเต่เหลือเวลาอีกไม่นาน ก่อนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเห่งประเทศไทย จะต้องนำผลการศึกษาทั้งหมด เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทันสิ้นปีนี้ หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของรัฐโครงการนี้ เห็นความสำคัญกับรายละเอียดในหลายๆด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อชุมชน ศาสนาเเละวัฒนธรรม เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าพัฒนา เเละเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเเท้จริง