ดัชนีอุตฯอาหารดิ่งสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุค่าผันผวน-อากาศร้อนจัด
เผยกลุ่มข้าว ผลผลิตการเกษตร น่าห่วงสุด ขอรัฐบาลเร่งเข้าดูแล
ข่าวจากสถาบันอาหาร รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ระดับ 47.4 ต่ำสุดตั้งแต่มีการสำรวจความเชื่อมั่นครั้งอุตสาหกรรมอาหารแรกเดือนมกราคม 2554 โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นน้อยกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมปลายปี 2554 ด้วย เพราะช่วงดังกล่าวดัชนีความเชื่อมั่นต่ำอยู่ระดับ 47.7 แต่ยังมากกว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยความเชื่อมั่นที่ลดลงต่ำที่สุดเนื่องจากภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลกับระดับค่าเงินบาทไทยที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับลดจำนวนลงจากอากาศที่ร้อนจัดได้แก่ กลุ่มสินค้าแปรรูปจากเกษตรกรรม พืชผักและผลไม้ และเครื่องเทศ ส่วนปริมาณการจับได้ที่ลดลง ต่างได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัดเช่นกัน ทั้งปริมาณและน้ำหนักที่ได้ปรับลดลง นอกจากยังได้รับผลกระทบจากค่าจ้างแรงงานและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตที่ภาคธุรกิจยังต้องแบกรับภาระอีกส่วนหนึ่งด้วย
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า เกือบทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50 โดยกลุ่มที่ต่ำสุดจนน่าห่วง คือ ข้าวและแป้งข้าว ดัชนีความเชื่อมั่นเหลือเพียง 36.5 เพราะได้รับผลกระทบจากการส่งออกข้าวที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 6.5 ล้านตัน เหลือ 6-6 ล้านตัน บวกกับการส่งออกน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบเรื่องราคา ที่ปัจจุบันราคาตลาดโลกเหลือเพียง 17 เซนต์ต่อปอนด์ต่ำสุดในรอบ 2 ปี กลุ่มที่ความเชื่อมั่นลดลงรองลงมา คือ สัตว์น้ำ ระดับ 43.9 โดยกุ้งถือว่าได้รับกระทบจากโรคอีเอ็มเอส หรือโรคตายด่วนอย่างมากจนกระทบกับการส่งออก ต่อมาคือ เครื่องปรุงรส ระดับ 49 ผักผลไม้ ระดับ 49.3 และอาหารอื่นๆ 49.7
เมื่อจำแนกความเชื่อมั่นตามขนาดธุรกิจซึ่งสถาบันสำรวจเพียง 2 กลุ่ม คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่า ธุรกิจขนาดกลางความเชื่อมั่นเหลือเพียง 44.2 ขณะที่ขนาดใหญ่ความเชื่อมั่นระดับ 49 ถือว่าไม่ดีเช่นกัน และเมื่อจำแนกตามการส่งออก พบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ความเชื่อมั่นอยู่ระดับ 45.6 ไม่ดีเช่นกัน สวนทางกับกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ความเชื่อมั่นระดับดี คือ 50.5 แสดงว่ากำลังซื้อในประเทศมากพอและเศรษฐกิจอยู่ในสถานการณ์ที่ดี
สำหรับสำรวจข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจอาหารพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุด 74.6% รองลงมาคือการขาดแคลนวัตถุดิบ 69.8% ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงอาจต้องปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ
โดยผลสำรวจ ยังพบด้วยว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 19% ได้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว ส่วนผู้ประกอบการอีก79.4% ยังคงตรึงราคาสินค้าที่ระดับเดิม เพราะคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระดับ 53.4 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องการให้ภาครัฐปัญหาเร่งด่วน ประกอบด้วย ค่าเงินบาทของไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ การขาดแคลนแรงงานในกลุ่มสินค้าสัตว์น้ำและเนื้อสัตว์ ต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอแนะให้ภาครัฐควรมีมาตรการชัดเจนเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทให้กับผู้ส่งออก และควรกำกับและดูแลระดับราคาวัตถุดิบในตลาดให้มีความเหมาะสม