เส้นทางปุ๋ยด้อยคุณภาพในภาคใต้
ปุ๋ยจำนวน 3,200 กระสอบ น้ำหนักกว่า 160 ตัน ในโกดังเก็บปุ๋ยของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.สงขลา เป็นส่วนหนึ่งในปริมาณปุ๋ย 30,000 ตัน ที่กรมวิชาการเกษตร ทดสอบตัวอย่างแล้ว พบว่าธาตุอาหารที่ผสมอยู่ในปุ๋ย ไม่ได้คุณภาพตามสูตรที่ระบุไว้ข้างกระสอบ เช่น การกำหนดให้มีธาตุไนโตรเจนร้อยละ 20 แต่จากผลการวิเคราะห์กลับพบธาตุไนโตรเจนเพียงแค่ร้อยละ 18 เท่านั้น ขัดกับข้อบังคับใน พรบ.ปุ๋ย ปี 2550
โดยปุ๋ยทั้ง 30,000 ตัน เป็นส่วนหนึ่งในโครงการจัดหาปุ๋ยคุณภาพดี ปริมาณ 70,000 ตัน มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จากการตรวจสอบของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่า กลุ่มจ่ายปุ๋ยตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็น 1 ใน 14 จุดที่ปุ๋ยปริมาณ 30,000 ตันซึ่งไม่ได้คุณภาพถูกกระจายมาให้กับกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง
ด้านผู้บริหารบริษัทแกรนนูลาร์โฮลดิง ระบุว่า ปุ๋ยที่ผลิตได้มาตรฐาน ส่วนผลการตรวจที่ออกมาเป็นแค่เกณฑ์คลาดเคลื่อนจากการสุ่มตรวจในครั้งแรกในจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ รวมถึงระยะเวลาในการขนส่ง
ทั้งนี้ทางกรรมการชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า พบข้อพิรุธด้วยว่าปุ๋ยที่ สกย.แจกจ่ายให้กับเกษตรกร ซึ่งระบุว่าเป็นปุ๋ยเชิงผสมแบบเป็นเนื้อเดียวกัน ตามข้อบังคับใน พรบ.ปุ๋ย ปี 2550 ระบุกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชนิดนี้ ว่าเกิดจากการบดส่วนผสมของปุ๋ยจนละเอียด ก่อนจะนำมาอัดเป็นเม็ด แต่กลับพบว่าเม็ดปุ๋ยที่ สกย.ส่งมาให้เกษตรกรใช้ กลับมีลักษณะที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และเมื่อปี 2554 บริษัท แกรนนูลาร์ โฮลดิ้ง เคยถูกร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนยางพารา ว่าจำหน่ายปุ๋ยปริมาณ 300 ตัน ที่มีธาตุอาหารต่ำกว่าความเป็นจริง ให้ สยก.นำไปแจกจ่ายเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้มาครั้งหนึ่งแล้ว