จับตาความเสี่ยงนักลงทุน หาก
เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา เตือนผู้ลงทุนระมัดระวังความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องที่จะตึงตัวมากขึ้น จากแนวโน้มการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งผลกระทบต่างๆ จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและสามารถใช้นโยบายภาครัฐดูแลได้ แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว คือ ภาวะฟองสบู่
ภายหลังการส่งสัญญาณของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดที่มีแผนปรับลดขนาดของโครงการซื้อพันธบัตรหรือมาตรการ QE3 ภายในปีนี้ และอาจยุติโครงการดังกล่าวภายในกลางปี 2557 ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ
เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด ชี้ว่า แผนการยกเลิกมาตรการคิวอี ทำให้เงินทุนในไทยและเอเชียเคลื่อนย้ายกลับไปสู่สหรัฐและยุโรปมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น การกู้ยืมเงินจะไม่คล่องตัว แต่มั่นใจว่าพื้นฐานเศรษฐกิจเอเชียและไทยยังคงแข็งแกร่ง
แม้สภาพคล่องจะลดลง แต่จะไม่เกิดภาวะการบีบของสภาพคล่องเหมือนในอดีต นอกจากนี้ การไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้นโยบายแทรกแซงดูแลได้ จึงไม่ควรกังวลมากนัก
นายศุภชัยระบุว่า ปัญหาระยะยาวที่ต้องเฝ้าจับตา คือ ภาวะฟองสบู่ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้น หรือราคาสินทรัพย์ ที่จะพุ่งสูงขึ้น โดยธนาคารโลกได้ออกมาประกาศแล้วว่า ปัญหาฟองสบู่จะเกิดขึ้นอีกในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและปัญหาน้ำมันแพง