เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นของ กสท. ในการไม่ออกเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติทีวีดิจิตอลสาธารณะ
โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม
แม้หลายภาคส่วนในสังคมจะออกมาเรียกร้องจนเป็นเหมือนแผ่นเสียงตกร่องให้คณะกรรมการกิจการเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะที่ชัดเจนแม้หลายภาคส่วนในสังคมจะออกมาเรียกร้องจนเป็นเหมือนแผ่นเสียงตกร่องให้คณะกรรมการกิจการเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะที่ชัดเจน เพื่อพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการตอบสนอง “เป้าหมายสาธารณะ” อย่างแท้จริงของผู้ขอใบอนุญาต (ไม่ใช่รับใช้อำนาจทุนและอำนาจรัฐเหมือนโครงสร้างเดิมที่เป็นมา) แต่ก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เมื่อในวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2556 ที่ประชุม กสท. มีมติไม่ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์สำหรับการประกอบกิจการสาธารณะ หรือหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะ ซึ่งนำเสนอโดย กสท.
เสียงข้างน้อย คือ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ โดย ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์ที่ กสท. ออกไปก่อนหน้า เพียงพออยู่แล้วในการใช้พิจารณา จึงไม่จำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติเพิ่มเติมอีก เพราะอาจทำให้ผู้ต้องการขอใบอนุญาตเกิดความสับสนกับหลักเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนได้ อีกทั้งได้เสนอว่าจะนำหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติที่ กสท. เสียงข้างน้อยเสนอไปใส่ไว้หนังสือเชิญชวนแทน
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอเป็นอีกหนึ่งแผ่นเสียงตกร่องที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ข้ออ้างของ ดร.นที ที่ว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติทีวีสาธารณะเพิ่มเติมนั้น ฟังไม่ขึ้นอย่างไร และเหตุใดการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงมีความสำคัญ
1.ประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้าไม่มีฉบับไหนที่กล่าวถึงกิจการโทรทัศน์สาธารณะเป็นการเฉพาะ และไม่มีเนื้อหาส่วนไหนที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาการประกวดคุณสมบัตินอกเหนือไปจากข้อกำหนดพื้นฐานในกฎหมาย กระทั่งภาคผนวก ก. ในประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่ง ดร.นที เคยอ้างถึงเป็นการเฉพาะ ก็ไม่ได้กำหนดอะไรที่มากไปกว่าข้อบังคับในกฎหมาย ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เพียงพอแล้วต่อการกำหนด “ความเป็นสาธารณะ” จึงฟังไม่ขึ้น และเมื่อหลักเกณฑ์ประกวดคุณสมบัติเป็นแนวทางพิจารณาเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐานในกฎหมาย การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ความซ้ำซ้อนอย่างที่ ดร.นที กล่าวอ้างอย่างแน่นอน ในทางกลับกันจะช่วยให้ผู้ยื่นขอใบอนุญาตเห็นแนวทางการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
2.ขณะที่การจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ กสท. ยังมีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. .... ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดถึงหลักเกณฑ์การประมูล ราคาขั้นต่ำของการประมูล เงื่อนไขใบอนุญาต ฯลฯ เหตุใดในการจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องของดุลยพินิจในการตัดสินใจมากกว่าการประมูลที่ตัดสินด้วยตัวเงินเป็นหลัก กสท. จึงไม่ออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อลดปัญหาจากการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวของ กสท. เอง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าการตัดสินใจให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะจะส่งผลกระทบกับสาธารณะและการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ กสท. ยิ่งต้องออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติเพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดด้วย การทำหนังสือเชิญชวนอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับเกณฑ์ที่จะมีผลกระทบกับสาธารณะอย่างมากเช่นนี้
3.กสท. มีอำนาจตามกฎหมาย (และควรใช้อำนาจนั้น) ในการออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อการันตีว่าผู้ขอใบอนุญาตจะประกอบกิจการเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” อย่างแท้จริงตามหลักสากล ไม่ว่าในแง่ของเนื้อหา โครงสร้างการบริหาร กลไกความรับผิดรับชอบ และระบบการเงิน การจัดสรรใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะบนเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติที่ดีและการกำกับดูแลอย่างจริงจังจะช่วยรับประกันว่า คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสาธารณะจะถูกจัดสรรให้กับผู้ที่มุ่งผลิตรายการเพื่อตอบสนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ไม่ใช่นำคลื่นที่ตนได้มาฟรีๆ ไปรับใช้อำนาจการเมืองหรือแสวงหากำไร
การตัดสินใจไม่ออกหลักเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติความเป็นสาธารณะ ประกอบกับนโยบายที่มีปัญหาก่อนหน้า เช่น การกำหนดเนื้อหาช่องรายการแบบตายตัว (ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าล็อคสเปกให้กับหน่วยงานของรัฐ) การตีกรอบนิยามบริการเพื่อความมั่นคงแบบแคบโดยให้ผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้น (สถาบันอุดมศึกษาและองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นๆ ไม่มีสิทธิ) หรือการให้สิทธิช่อง 5 11 และ TPBS (โดยเฉพาะช่อง 5 ซึ่งหาโฆษณาได้เต็มที่และมีรายการข่าวสารสาระไม่ตรงตามเกณฑ์สาธารณะ) ในการออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล โดยไม่ต้องปรับผังรายการและวิธีการหารายได้ อาจทำให้เกิด “ตลกร้ายปฏิรูปสื่อ” อาทิ การเปิดทางให้หน่วยงานรัฐพาเหรดเข้ามายึดครองหน้าจอโดยอาจไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเองหรือผู้ที่อยู่ในอำนาจทางการเมือง การเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐเอาภาษีของประชาชนมาใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง การปล่อยให้หน่วยงานรัฐเอาคลื่นไปให้บริการเชิงพาณิชย์ (โดยเฉพาะประเภทความมั่นคงที่สามารถหาโฆษณาได้) ซึ่งจะกระทบต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์
การออกหลักเกณฑ์เพื่อการันตีว่าผู้รับใบอนุญาตจะประกอบกิจการเพื่อสาธารณะโดยไม่เป็นเครื่องมือของรัฐหรือทุน ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การให้ใบอนุญาตโดยขาดหลักเกณฑ์ที่พิสูจน์ “เป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ย่อมสะท้อนถึงความไม่โปร่งใสและความไม่จริงใจของ กสท. ในการทำหน้าที่ของตนเพื่อปฏิรูปสื่อ ซึ่งซ้ำร้ายอาจซ้ำเติมสภาพการณ์ที่รัฐถือครองอำนาจสื่อดังที่เป็นอยู่
ที่มา: http://nbtcpolicywatch.org/press_detail.php?i=1029