ไขข้อสงสัย “ร่างประกาศมาตรการเยียวยา 1800 MHz”
กทค.โต้เอ็นจีเอ ยันมีฐานกฎหมายรองรับชัดเจน หากปล่อยให้ซิมดับเท่ากับไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค
ตามที่กสทช.มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าวตามกฎหมาย และต่อมามีผู้ออกมาวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับ เป็นการขยายระยะเวลาสัมปทานจึงควรที่จะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใด ในช่วงสองปี ที่ผ่านมา กสทช. จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น
“เศรษฐพงค์”โต้ข้อกล่าวหา 2 ปี เกียร์ว่าง ไม่เป็นธรรมกับกสทช.
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ถูกต้อง คือ ปัจจุบันบอร์ด กสทช.ชุดนี้ปฎิบัติหน้าที่ยังไม่ถึงสองปี ซึ่งเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็เริ่มปฎิบัติหน้าที่ทันที แต่กฎหมายกำหนดให้ กสทช. ต้องจัดทำและประกาศใช้ แผนแม่บทต่างๆตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆต่อไป จึงได้เร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทต่างๆ ได้แก่ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จนสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555
ทั้งนี้ได้ทำคู่ขนานไปกับการเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยการจัดประมูล (การประมูล 3จี) ซึ่งมีการทำงานในเชิงรุกจนสามารถออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 จัดประมูลคลื่นความถี่สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 และสามารถออกใบอนุญาต 3 จี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 รวมเวลาเตรียมการประมูล 3 จี นับตั้งแต่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯจนถึงวันออกใบอนุญาต 3 จี เป็นเวลาประมาณ 11 เดือน
ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 และคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 โดยคณะอนุกรรมการทั้งสองชุดได้รายงานผลการพิจารณาต่อกทค.ในช่วงต้นปี 2556 ทั้งนี้มีประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในการใช้คลื่นเมื่อสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งได้ส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา กสทช.ให้ความเห็น ทำให้ประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมีความชัดเจนขึ้น
“ข้อตำหนิที่ว่า บอร์ด กสทช.ไม่ได้ดำเนินการอะไรในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และปล่อยให้เวลาผ่านไปถึง 2 ปี จึงคลาดเคลื่อน และไม่เป็นธรรมต่อองค์กรกสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพนักงาน กสทช. ซึ่งทุกคนทำงานหนักในการช่วยจัดทำแผนแม่บทและเตรียมการประมูลคลื่น 3 จี จนเป็นผลสำเร็จ แม้จะมีกระแสต่อต้านทั้งก่อนการประมูลและภายหลังการประมูล 3 จี จนทำให้งานของเราเกิดความล่าช้า แต่เราก็ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับกลุ่มที่พยายามจะล้มการประมูล 3 จี จนได้รับชัยชนะ ผมคิดว่าผู้วิจารณ์คงจะขาดความเข้าใจในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรืออาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจึงทำให้ออกมาวิจารณ์เช่นนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz นั้น มีขั้นตอนต่างๆที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการเป็นลำดับ รวมทั้งมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาให้เกิดความชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่ง กสทช.มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง"
การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ กฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้ต้องประมูลคลื่นความถี่ทันทีที่สัมปทานหมดอายุ แต่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้นถ้าดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยสภาพอุตสาหกรรมไม่พร้อม หรือเร่งรีบเกินไปจนเกิดความเสียหาย ก็จะทำให้ กสทช. กระทำผิดต่อหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากพิจารณาสภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและลำดับขั้นตอนต่างๆที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้การจัดประมูลคลื่นความถี่เกิดประสิทธิภาพแล้ว ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมชุดแรกเสนอว่าจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ในช่วงปี 2557 โดยอาจจะมีการประมูลพร้อมกับคลื่น 900 MHz ก็ได้ จึงขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย” พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวย้ำ